ประวัติความเป็นมาของชาวม้ง
ม้ง หมายถึง อิสระชน เดิมอาศัยอยู่ในประเทศจีน ต่อมาชาวจีนเข้ามาปราบปราม เป็นเหตุให้อพยพลงมาถึงตอนใต้ของจีน และเขตอินโดจีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และตอนเหนือของ ประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. 2400 โดยมีสองกลุ่มได้แก่ ม้งน้ำเงินและม้งขาว ไม่ชอบให้เรียกว่าแม้ว โดยถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ประชากรของม้งในประเทศไทย มีมากเป็นอันดับ 2 รองจากกะเหรี่ยง
ภาษา
ภาษาม้งจัดอยู่ในสาขาเมี้ยว-เย้าจองตระกูลจีน-ธิเบตไม่มีภาษาเขียนแต่ยืมตัวอักษรภาษาโรมัน มาใช้
ลักษณะบ้านเรือน
ชนเผ่าม้ง นิยมสร้างบ้านอยู่บนภูเขาสูง สร้างบ้านคร่อมพื้น โดยใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน ฝาบ้านเป็นไม้แผ่น มุงด้วยคา มีห้องนอน กับห้องครัวในบ้าน บ้านจะมีขนาดใหญ่ เพราะอยู่อาศัยในลักษณะครอบครัวขยาย ม้ง ถือผู้อาวุโสเป็นหัวหน้าครอบครัว
การแต่งกาย
ม้งน้ำเงิน
- ผู้ชาย สวมเสื้อสีดำ หรือน้ำเงิน ตัวสั้น ตัวป้าย ปักลวดลาย แขนยาว ขลิบขอบแขนเสื้อด้วยสีฟ้า ส่วนกางเกงใช้สีเดียวกัน เป้ากางเกงจะกว้างและหย่อนต่ำลงมาถึงหัวเข่า ปลายขาแคบมีผ้าสีแดงคาดเอวเอาไว้ ชายผ้าทั้งสองข้างปักลวดลาย ห้อยลงมา
- ผู้หญิง สวมเสื้อสีดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม มีลวดลายที่หน้าอก แขนยาวขลิบที่ปลายแขนด้วยสีฟ้า ปกเสื้อห้อยพับไปด้านหลัง ปักลวดลาย สวมกระโปรงจีบ รอบตัว ลวดลาย จากการเขียนด้วยขี้ผึ้งแล้วนำย้อมสีน้ำเงิน มีผ้าผืนยาวปักลวดลาย หัอยชายปิดกระโปรง ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะใช้ผ้าพื้นเรียบ ขลิบชายด้วยผ้าสี มีผ้าแดงปักลวดลายที่ชายทั้งสองข้าง และปล่อยเป็นพู่ห้อยลงมา คาดด้วยเข็มขัดเงินทับ พันแข้งด้วยผ้าสีน้ำเงินหรือดำ มวยผมไว้ที่กลางกระหม่อมมีช้องผมมวย พันเสริมให้ใหญ่ขึ้น แล้วใช้ผ้าโพกทับมวยผม ประดับเครื่องเงิน และเหรียญเงิน
ม้งขาว
- ผู้ชาย แต่งกายคล้ายกันกับม้งน้ำเงิน แต่มีการประดับลวดลายน้อยกว่า ที่คอสวมห่วงเงินรอบคอหลายห่วง
- ผู้หญิง ส่วนใหญ่จะแต่งตัวคล้ายกันกับม้งน้ำเงิน เดิมนิยมสวมกระโปรงสีขาวล้วนไม่มีลวดลายใด ๆ มีผ้าผืนยาวที่ปิดทับด้านหน้ากระโปรงปักลวดลาย พร้อมทั้งมีผ้าแถบสีแดงคาดเอว ปล่อยชายเป็นหางไว้ด้านหลัง ปัจจุบันนุ่งกางเกงทรงจีนสีน้ำเงินเข้มแทนกระโปรง พันมวยผม และกันเชิงผมด้านหน้าให้ดูมีหน้าผากกว้างขึ้น
วัฒนธรรม และประเพณี
ชาวเขาเผ่าม้ง หรือ ม้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมตลอดทั้งความเชื่อ เป็นของตนเองสืบมาแต่บรรพบุรุษ เช่น ประเพณีฉลองปีใหม่
เรียกว่า “น่อเป๊โจ่วซ์” แปลว่ากินสามสิบ โดยถือเอาวันสุดท้ายคือ 30 ค่ำ ของเดือน 12 ในทุกปีเป็นวันส่งท้ายปีเก่า อยู่ในราวปลายเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ชาวม้งจะประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทุกคนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ ประดับเครื่องเงินสวยงาม เด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นลูกข่าง และร้องรำทำเพลง หนุ่มสาวจะจับคู่กันโยนลูกช่วง พูดคุยกัน
ประเพณีแต่งงาน
ชาวม้ง จะไม่เกี้ยวพาราสี หรือแต่งงานกับคนแซ่หรือตระกูลเดียวกันเพราะถือเป็นพี่น้องกัน ชาวม้งนิยมแต่งงาน ในระหว่างอายุ 15 – 18 ปี เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายชาย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มสมาชิกในครอบครัวชายชาวม้งอาจมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน อยู่รวมกันในบ้านของฝ่ายสามี
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
ชาวม้ง มีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่อยู่บนฟ้า ในลำน้ำ ประจำต้นไม้ ภูเขา ไร่นา ฯลฯ ชาวม้งจะต้องเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เหล่านี้ปีละครั้ง
ชนเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน โครงการหลวง ได้แก่
- สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว อ.หางดง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อ.หางดง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่