37.3 C
Bangkok
วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกTravelเที่ยวโครงการหลวงสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ การทำไร่เลื่อยลอย การปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาไม่เฉพาะในท้องถิ่นแห่งนั้น จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” บนพื้นที่ 150 ไร่ ซึ่งเป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานด้านวิจัยค้นคว้าข้อมูล เป็นแนวทางที่จะนำเอาผลจากการวิจัยมาส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกร

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์  มีลักษณะพื้นที่เป็นหุบเขาลาดชัน โดยแนวเขาที่ทอดไปในแนวเขาสันปันน้ำเป็นได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งด้านตะวันออกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำปิง และด้านตะวันตกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำแจ่ม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1, 300 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสถานีฯ ให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้ต่างถิ่นหลากหลายชนิด ที่ทางสถานีได้ศึกษาวิจัยและทดลองปลูกขึ้นมา โดยได้จัดแบ่งเป็นโซนต่าง  ๆ  ได้แก่

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

กิจกรรมการท่องเที่ยว

จุดท่องเที่ยวในสถานี

  • สวน 80 พรรษา ซึ่งจัดในปี พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้น ที่ได้จากงานวิจัยของนักวิชาการ ที่นำออกมาสาธิต ในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด
  • สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟินทั้งของไทยและต่างประเทศ ประมาณ 30 สกุล 50 ชนิด จุดเด่นภายในสวน คือ กูดต้น หรือ ทรีเฟิน (Tree Fern) เป็นเฟินขนาดใหญ่และมีลำต้นสูงร่วม 10 เมตร ซึ่งมีประมาณกว่า 10 ชนิด
  • โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงดอกไม้ ไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล อาทิเช่น กุหลาบหิน รองเท้านารี ซิมบิเดี้ยม
  • สวนกุหลาบพันปี เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศเช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต ภายในสวนประกอบไปด้วย กุหลาบพันปีจำนวน 3 สายพันธุ์ คือ
    • กลุ่มที่ 1 Rhododendron
      • Rhododendron สีแดง ได้แก่ คำแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในดอยอินทนนท์และชื่อเสียง, กุหลาบแดงอีสาน ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคอีสานของไทย
      • Rhododendron สีขาว ได้แก่ สีขาวอินทนนท์, สีขาวเชียงดาว, กุหลาบขาว
    • กลุ่มที่ 2 Azalea – เป็นพืชกลุ่มหนึ่งในตระกูล Rhododendron เป็นลูกผสมจากงานศึกษาและค้นคว้า และทดสอบพันธ์ ซึ่งมีจัดแสดงอยู่ในสวนกุหลาบพันปี
    • กลุ่มที่ 3 Vireyas เป็นพันธุ์ลูกผสม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย
  • โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน ซึ่งรวบรวมเฟินที่หายากชนิดต่าง ๆ ไว้มากมายหลายชนิด ทั้งของไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้วเป็นโรงจัดแสดงเฟินที่มีความสำคัญทางด้านพืชสวนและเศรษฐกิจ ซึ่งมีประมาณ 50 สกุล 200 กว่าชนิด และยังมีเฟินรัศมีโชติ ซึ่งเป็นเฟินประจำถิ่นของพื้นที่ ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
  • โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ รวบรวมพืชกินสัตว์หรือพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง, พิงกุย ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง
  • โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) รวบรวมผักเมืองหนาวประเภทสลัด ปลูกโดยวิธีไร้ดิน เน้นผักสลัด 5 ชนิด ของโครงการหลวง อาทิ ผักกาดหวาน กรีนโอ๊ค เรโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ไอส์เบริ์ก
  • หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นหน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ดำเนินงานวิจัยพัฒนาและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว ทำให้มีคณะเข้ามาศึกษาดูงานวิจัย ซึ่งได้มีการวิจัยและพัฒนาขึ้น ได้แก่
    • งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ดอก ได้แก่ กุหลาบ เดเลีย หน้าวัว เจอบีร่า
    • งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลขนาดเล็ก ได้แก่ สตอเบอรี่ ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ องุ่น
    • งานวิจัยและสาธิตการผลิตไม้ผลเขตหนาว ได้แก่ พี้ช พลับ อาโวคาโด กีวี่ฟรุ๊ต

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

จุดท่องเที่ยวชุมชน

  • บ้านแม่กลางหลวง ชุมชนปกาเกอญอที่มีวิถีชีวิต สมถะเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นศึกษาดูนก ประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอก นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันได การทำนาข้าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
    • ก.ย. – กลาง ต.ค . ช่วงหน้าฝนต้นข้าวจะเริ่มเขียว เคล้าสายหมอกบางๆในฤดูฝน
    • ปลายต.ค. – ต้นพ.ย. เป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองอร่าม
  • บ้านหนองหล่ม ชุมชนชาวปกาเกอญอที่นี่มีต้นกาแฟประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในหลวงเสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นชั่วโมง เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ทรงมีรับสั่งเองว่าการที่เสด็จไปทำให้ชาวเขานั้นเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจปลูก ปัจจุบันบนดอยมีกาแฟมากมายก็เริ่มจากกาแฟ 2-3 ต้นนั่นเอง

กิจกรรมท่องเที่ยว

เส้นทางเดินชมธรรมชาติสวนบริเวณในสถานีฯ และนักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ สถานีและในหมู่บ้านได้

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

  • อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ยอดดอยที่สูงที่สุดในไทย 2,565 จากระดับน้ำทะเลเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยมีสภาพป่าที่หลากหลายมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกแม่ยะ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกแม่กลาง ถ้ำบริจินดา เส้นทางชมธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เส้นทางชมธรรมชาติอ่างกา
  • อำเภอแม่แจ่ม จากตัวสถานีไปยังอำเภอแม่แจ่ม ระยะทาง 25 กิโลเมตร แต่เส้นทางค่อนข้างแคบ ลาดชัน ไปจนถึงอำเภอแม่แจ่ม มีจุดชมวิวธรรมชาติ น้ำตก วัดต่างๆ และวิถีชีวิตชาวบ้านที่ยังเงียบสงบ และที่นี่ยังเป็นแหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกที่มีชื่อเสียงมานาน
  • วัดพระธาตุศรีจอมทอง ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์

ที่พัก

  • บ้านพักรับรองภายในสถานีฯ บ้านพักสิริภูมิเอ จำนวน 6 หลัง พักได้หลังละ 5 ท่าน บ้านสิริภูมิบี จำนวน 14 หลัง 28 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน และเรือนนอนจำนวน 2 ห้อง พักได้ห้องละ 4 ท่าน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สอบถามและสำรองห้องพักได้ที่ 053-286-773-7
  • มีสถานที่กางเต็นท์ และบริการเช่าเต็นท์พร้อมถุงนอน ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
  • ที่พักแบบวิลเลจสเตย์และโฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐาน ที่บ้านแม่กลางหลวง ติดต่อศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กลางหลวง คุณสมศักดิ์ 081-960-8856

ร้านอาหาร

เวลาเปิด 07.30-20.00 น. รองรับนักท่องเที่ยวได้ 150 คน ภายในสโมสรประกอบด้วย จุดบริการติดต่อบ้านพัก ร้านกาแฟโครงการหลวง ประเภทของอาหาร เน้นวัตถุดิบของโครงการหวงตามฤดูกาล

เมนูแนะนำ

ปลาเทราต์นึ่งเซเลอรี่ ปลาเทราต์รมควัน เมี่ยงปลาเทราต์กระทงทอง สลิดปลาเทราต์ย่าง ซุปกระดูกปลาสเตอร์เจียน สลัดผักอินทนนท์ สลัดสเตอร์เจียนรมควัน ข้าวผัดดอยคำ กุ้งก้ามแดงราดซอสมะขาม ต้มยำกุ้งก้ามแดงผัดแห้ง เห็ดออรินจิย่างยำตะไคร้ เป็ดอบกาแฟดอยคำ ซี่โครงหมูอบหมั่นโถ

ของฝากของที่ระลึก

  • ผลิตภัณฑ์โครงการหลวง เช่น ผักและผลไม้เมืองหนาวตามฤดูกาล กาแฟดอยคำ น้ำผึ้ง แยมเคปกูสเบอร์รี่ น้ำเสาวรส น้ำบ๊วย ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้กระถาง ดอกไม้แห้ง ฯลฯ
  • งานหัตถกรรมผ้าทอชาวเขา ได้แก่ ผ้าทอมือ ที่มีการแปรรูปเป็นผ้าถุง ย่าม เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ ฯลฯ

ร้านค้าของที่ระลึก

มีร้านจำหน่ายของที่ระลึก บริเวณซุ้มกาแฟหน้าสำนักงาน จำหน่ายผลผลิตโครงการหลวงตามฤดูกาล งานหัตถกรรมชาวเขา ด้านในมีร้านกาแฟ และมุมนั่งจิบกาแฟชมวิวสวน

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-ฮอด ผ่าน อำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอจอมทองประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ไปตามเส้นทางสายนี้จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 31 มีทางแยกขวามือเข้าบ้านขุนกลางไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ 202 หมู่ 7 บ้านขุนกลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
เบอร์โทรศัพท์ : 053-286777-8 เบอร์แฟกซ์: 053-286779
ติดต่อที่พัก 053-286771-2 ต่อ 14-15 หรือ 080-7691944 เบอร์แฟกซ์: 053-286770
E-mail : royalinthanon @ hotmail.com

บทความ ข่าวสาร มาใหม่

5G จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

เทคโนโลยี 5G ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เ...

เทคโนโลยี 5G: คืออะไร มีประโยชน์ และประยุกต์ใช้งานอย่างไร

เทคโนโลยี 5G ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงวงการสื่อสารและเทคโนโลยีในปัจจุบัน 5...

การใช้งาน IoT: สร้างโอกาสและประโยชน์ที่มาพร้อมกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสรรพ...

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การใช้งานอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Intern...

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ (IoT): การเชื่อมต่อที่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ (Internet of Things หรือ IoT) คือการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง...

เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) และเทคโนโลยีเสมือนจริงเสริม (AR)

เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality - VR) และเทคโนโลยีเสมือนจริงเสริม (Augmented Reality ...