สระแก้ว เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ชายแดนด้านตะวันออกของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมากว่า 4,000 ปี นับตั้งแต่ยุคหินใหม่-ยุคโลหะ โดยมีการค้นพบวัตถุโบราณที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ ต่อมามีการค้นพบโบราณวัตถุที่อำเภออรัญประเทศและอำเภอตาพระยา เป็นหลักฐานว่าสระแก้วเคยเป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละ-ทวาราวดี มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย ซึ่งเห็นได้จากโบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะต่าง ๆ ปรากฏที่ปราสาทเขาน้อย และเขารัง อำเภออรัญประเทศ และช่องสระแจง อำเภอตาพระยา เป็นต้น โดยเฉพาะจารึกรูปอักษรปัลลวะที่ปรากฏในบริเวณปราสาทเขาน้อย ถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรกที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 1180
“ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างามน้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร”
นอกจากนี้ยังค้นพบหลักฐานความเจริญของอารยธรรมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้มากมาย ทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผา เครื่องถ้วย และคูเมืองโบราณ เช่น จารึกที่ปราสาทสด๊กก็อกธม 2 หลักซึ่งอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊กก็อกธมได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระศิวะ ดังข้อความในจารึกสด๊กก็อกธมหลักที่ 1 ได้กล่าวว่า ในปีพุทธศักราช 1480 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้นำศิลาจารึกมาปักไว้ที่ปราสาทสด๊กก็อกธม เพื่อประกาศห้ามเรียกข้าของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น แต่ให้ข้าของเทวสถานได้บำรุงรักษาและบูชาพระศิวลึงค์หรือรูปเคารพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานสด๊กก็อกธมนี้ตลอดไป
ส่วนจารึกอีกหลักหนึ่งก็ได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าอุทัยวรมันที่ 2 ซึ่งได้ทรงบูรณะโบราณสถานแห่งนี้จนสำเร็จพร้อมจารึกที่เกี่ยวกับอารยธรรมและศาสนา เป็นต้น จากจารึกและโบราณสถานที่พบนี้สามารถบอกให้เราทราบถึงระบบการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณบนผืนแผ่นดินแห่งนี้
สระแก้ว ยังเคยเป็นเมืองบริวารของปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ) เมื่อมีการยกเลิกระบบเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2476 ปราจีนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นจังหวัด สระแก้วจึงกลายเป็นอำเภอหนึ่ง ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยมีพื้นที่ทั้งสิ้น 7,195 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,496,961 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอตาพระยา อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอคลองหาด อำเภอโคกสูง และอำเภอวังสมบูรณ์
อาณาเขตจังหวัด สระแก้ว
- ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา
- ทิศตะวันออก ติดกับ ประเทศกัมพูชา
- ทิศใต้ ติดกับ จังหวัดจันทบุรี
- ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพมหานคร
- ใช้ถนนพหลโยธิน หรือถนนวิภาวดีรังสิตแล้วเลี้ยวเข้าถนนรังสิต-นครนายก เข้านครนายกใช้ถนนสุวรรณศร ( ทางหลวงหมายเลข 33 ) ถึงเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอกบินทร์บุรี ถึงตัวจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 214 กิโลเมตร
- ใช้ถนนพหลโยธิน แล้วเลี้ยวขวาที่ทางแยกหินกอง ประมาณกิโลเมตรที่ 90 แยกขวาใช้ถนนสุวรรณศร ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ถึงนครนายก ใช้ถนนสุวรรณศร ( ทางหลวงหมายเลข 33) ถึงเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอกบินทร์บุรี ถึงตัวจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร
- ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี เขตหนองจอก ไปทางจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นให้ใช้เส้นทางไปอำเภอพนมสารคาม พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 35 ให้เลี้ยวขวาไปทางอำเภอกบินทร์บุรี โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 95 ให้เลี้ยวขวาอีกครั้ง เข้าถนนสุวรรณศร ไปจนถึงตัวจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 210 กิโลเมตร
- ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี เขตหนองจอก ไปจังหวัดฉะเชิงเทรา จากนั้นให้ใช้เส้นทางไปอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จะพบทางแยกเขาหินซ้อน แยกขวาไปจังหวัดสระแก้วไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 359 อีกประมาณ 65 กิโลเมตรถึงตัวจังหวัดสระแก้ว
จากนครราชสีมา
- ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ไปทางอำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ผ่านอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสุวรรณศร ถึงตัวจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 174 กิโลเมตร
จากจันทบุรี
- ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 ผ่านอำเภอมะขาม อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เข้าเขตอำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว ผ่านอำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเขาฉกรรจ์ ถึงตัวจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 258 กิโลเมตร
จากบุรีรัมย์
- ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 อำเภอนางรอง เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 ผ่านอำเภอปะคำ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าเขตอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ผ่านอำเภอโคกสูง อำเภออรัญประเทศ ไปตามถนนสุวรรณศร ผ่านอำเภอวัฒนานคร ถึงตัวจังหวัดสระแก้ว ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร
รถโดยสารประจำทาง
- สาย 921 (กรุงเทพฯ – องครักษ์ – อรัญประเทศ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – ผ่านอำเภอวัฒนานคร – สถานีปลายทางอำเภออรัญประเทศ
- สาย 921 (กรุงเทพฯ – องครักษ์ – อรัญประเทศ – โรงเกลือ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – ผ่านอำเภอวัฒนานคร – ผ่านอำเภออรัญประเทศ – สถานีปลายทางตลาดโรงเกลือ
- สาย 999 (กรุงเทพฯ – องครักษ์ – อรัญประเทศ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – ผ่านอำเภอวัฒนานคร – สถานีปลายทางอำเภออรัญประเทศ
- สาย 60 (กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – ผ่านอำเภอวัฒนานคร – สถานีปลายทางอำเภออรัญประเทศ
- สาย 60 (กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ – โรงเกลือ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – ผ่านอำเภอวัฒนานคร – ผ่านอำเภออรัญประเทศ – สถานีปลายทางตลาดโรงเกลือ
- รถเหลือง (Yellow Bus) (สายระยอง – พัทยา – มุกดาหาร – ยโสธร) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว ผ่านอำเภออรัญประเทศ
- รถเหลือง (Yellow Bus) (สายระยอง – พัทยา – บุรีรัมย์ – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว ผ่านอำเภออรัญประเทศ
- รถเหลือง (Yellow Bus) (สายระยอง – พัทยา – อรัญประเทศ – นางรอง – สุรินทร์) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว ผ่านอำเภออรัญประเทศ
- รถเหลือง (Yellow Bus) (สายระยอง – พัทยา – อรัญประเทศ – นางรอง – บุรีรัมย์ – สตึก) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว ผ่านอำเภออรัญประเทศ
- รถเหลือง (Yellow Bus) (สายระยอง – ก.ม. 10 – บ่อวิน – ยโสธร – อำนาจเจริญ – มุกดาหาร) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว ผ่านอำเภออรัญประเทศ
- รถเหลือง (Yellow Bus) (สายระยอง – ก.ม. 10 – บ่อวิน – ร้อยเอ็ด – บุรีรัมย์ – มุกดาหาร) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว ผ่านอำเภออรัญประเทศ
- สาย 522 (บุรีรัมย์ – จันทบุรี) เส้นทางผ่านอำเภอตาพระยา – อำเภออรัญประเทศ – อำเภอวัฒนาคร – อำเภอเมืองสระแก้ว – อำเภอเขาฉกรรจ์ – ผ่านอำเภอวังน้ำเย็น
- สาย 340 (นครราชสีมา – จันทบุรี) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – อำเภอเขาฉกรรจ์ – ผ่านอำเภอวังน้ำเย็น – ผ่านอำเภอวังสมบูรณ์
- สาย 341 (สระบุรี – จันทบุรี) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – อำเภอเขาฉกรรจ์ – ผ่านอำเภอวังน้ำเย็น – ผ่านอำเภอวังสมบูรณ์
- สาย 309 (ฉะเชิงเทรา – อรัญประเทศ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – อำเภอวัฒนานคร – สถานีปลายทางอรัญประเทศ
- สาย 309 (ฉะเชิงเทรา – เขาหินซ้อน – ตลาดโรงเกลือ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – อำเภอวัฒนานคร – อำเภออรัญประเทศ – สถานีปลายทางตลาดโรงเกลือ
- สาย 385 (ชลบุรี – ตลาดโรงเกลือ) เส้นทางผ่านอำเภอเมืองสระแก้ว – อำเภอวัฒนานคร – อำเภออรัญประเทศ – สถานีปลายทางตลาดโรงเกลือ
- สาย 390 (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ตลาดโรงเกลือ)
- สาย 638 (พิษณุโลก – ตลาดโรงเกลือ) เส้นทางผ่าน พิษณุโลก – มหาวิทยาลัยนเรศวร – วชิรบารมี (พิจิตร) – นครสวรรค์ – นวนคร – รังสิต – รามอินทรา กม.3 – ฉะเชิงเทรา – พนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา) – เขาหินซ้อน – สระแก้ว – อำเภอวัฒนานคร – อำเภออรัญประเทศ – ตลาดโรงเกลือ
- สาย 638 (แม่สอด – ตลาดโรงเกลือ) เส้นทางผ่าน แม่สอด (ตาก) – ตาก – วังเจ้า (ตาก) – กำแพงเพชร – คลองขลุง (กำแพงเพชร) – สลกบาตร (กำแพงเพชร) – นครสวรรค์ – นวนคร – รังสิต – รามอินทรา กม.3 – ฉะเชิงเทรา – พนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา) – เขาหินซ้อน – สระแก้ว – อำเภอวัฒนานคร – อำเภออรัญประเทศ – ตลาดโรงเกลือ
รถไฟ
รถไฟจากกรุงเทพมหานคร – อรัญประเทศ
- จากสถานีกรุงเทพมหานคร (เวลาประมาณ 05.55 น.) ถึงสถานีสระแก้ว (เวลาประมาณ 10:33) ถึงอรัญประเทศ (เวลาประมาณ 11.35 น.)
- จากสถานีกรุงเทพมหานคร (เวลาประมาณ 13.05 น.) ถึงสถานีสระแก้ว (เวลาประมาณ 16:49) ถึงอรัญประเทศ (เวลาประมาณ 17.35 น.)
- จากสถานีอรัญประเทศ (เวลาประมาณ 06.40 น.) ถึงสถานีสระแก้ว (เวลาประมาณ 07:32) ถึงกรุงเทพมหานคร (เวลาประมาณ 12.05 น.)
- จากสถานีอรัญประเทศ (เวลาประมาณ 13.55 น.) ถึงสถานีสระแก้ว (เวลาประมาณ 14:49) ถึงกรุงเทพมหานคร (เวลาประมาณ 19.55 น.)
ระยะทางจากอำเภอเมืองสระแก้วไปยังอำเภอใกล้เคียง
- เขาฉกรรจ์ 19 กิโลเมตร
- วัฒนานคร 26 กิโลเมตร
- วังน้ำเย็น 37 กิโลเมตร
- อรัญประเทศ 50 กิโลเมตร
- วังสมบูรณ์ 59 กิโลเมตร
- คลองหาด 60 กิโลเมตร
- โคกสูง 67 กิโลเมตร
- ตาพระยา 100 กิโลเมตร
ระยะทางจากจังหวัดสระแก้วไปยังจังหวัดใกล้เคียง
- นครราชสีมา 184 กิโลเมตร
- ปราจีนบุรี 188 กิโลเมตร
- จันทบุรี 258 กิโลเมตร
- ฉะเชิงเทรา 286 กิโลเมตร
ภาพประกอบทั้งหมดจาก “12 เมืองต้องห้ามพลาด +”
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
- สระแก้ว สระขวัญ
- ศาลหลักเมือง
- อุทยานแห่งชาติปางสีดา
- น้ำตกปางสีดา
- น้ำตกผาตะเคียน
- ทุ่งหญ้าโป่งกระทิง
- น้ำตกถ้ำค้างคาว
- หลวงพ่อทอง (พระครูรัตนสราธิคุณ) วัดสระแก้ว