อาการคันตามตัวตอนกลางคืน เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย มักทำให้รู้สึกไม่สบายตัว รบกวนการนอนหลับ และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตได้ สาเหตุของอาการคันตามตัวตอนกลางคืน มีหลากหลายปัจจัย ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
ร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงตามวงจรการตื่นและการนอนหลับที่เรียกว่า จังหวะเซอร์คาเดียน (Circadian Rhythm) โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่มักเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย ความชุ่มชื้นของผิวหนัง และการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืน ดังนี้
- อุณหภูมิของร่างกาย ผิวหนังปล่อยความร้อนของร่างกายออกมา เพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงขณะนอนหลับช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงหลับลึก (NREM) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันผิวได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ร่างกายจะปล่อยไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น และผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ช่วยลดการอักเสบลดลงต่ำสุดในตอนเย็นและตอนเที่ยงคืน ทำให้รู้สึกคันตามตัวตอนกลางคืนได้
- ความชุ่มชื้นของผิว ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้ผู้มีผิวแห้งเกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืน
อายุ
เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังจะเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน เช่น ผิวชั้นนอกบางลง ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันผลิตเหงื่อและน้ำมันน้อยลง ทำให้ผิวแห้งกร้าน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และโรคไต หรือรับประทานยาบางชนิด อาจทำให้ผิวแห้งและคันตามตัวในตอนกลางคืน
ความเครียด
ความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมามากขึ้น และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้หลั่งฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการคันผิวหนังได้ แม้คอร์ติซอลจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยปรับสมดุลของระดับฮิสตามีน แต่ผู้ที่มีความเครียดเรื้อรัง ร่างกายจะตอบสนองต่อคอร์ติซอลน้อยลง ทำให้เกิดการอักเสบและคันตามตัวในตอนกลางคืนมากขึ้น
แมลงสัตว์กัดต่อย
การถูกสัตว์กัดต่อยในขณะหลับมักทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืน เช่น
- หิด เป็นโรคติดเชื้อจากตัวไรขนาดเล็ก การสัมผัสผิวหนังของผู้มีเชื้อหิดโดยตรง หรือสัมผัสเสื้อผ้า และที่นอน อาจทำให้เกิดผื่นแดง มีตุ่มน้ำใส มักพบตามง่ามนิ้ว รักแร้ และข้อพับ และทำให้เกิดอาการคันตามตัว โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ตัวเรือด เป็นแมลงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนที่นอน มักกัดและดูดเลือดคนเป็นอาหารในตอนกลางคืน ทำให้เกิดเป็นตุ่มหรือผื่นแดง และมีอาการคัน
โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังหลายชนิดทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งอาการคันมักเกิดขึ้นตลอดทั้งวัน หรืออาจเห่อขึ้นในตอนกลางคืน เช่น
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาจเกิดจากพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ หรือการได้รับสารกระตุ้น เช่น อาหาร มลภาวะ ทำให้เกิดผื่นแดง ผิวแห้งลอก และมีอาการคัน
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวผิดปกติ จึงทำให้ผิวแดง เป็นผื่นหนาบริเวณหนังศีรษะ แขน ขา และตามลำตัว ผิวแห้งลอก มีอาการคันและรู้สึกร้อนทึ่ผิวหนัง
- ลมพิษ (Hives) เกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นในชีวิตประจำวัน เช่น อากาศที่เปลี่ยนแปลง อาหาร ยา ละอองเกสรพืช หรืออาจเกิดจากการโรคประจำตัว เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) ทำให้เกิดเป็นผื่นบวมนูนสีแดงได้ทั่วร่างกาย และรู้สึกคันมาก
โรคประจำตัวอื่น ๆ
ปัจจัยด้านสุขภาพ และโรคประจำตัวบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการคันตามตัวตอนกลางคืนได้ เช่น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ และผู้ที่หมดประจำเดือน
- โรคไทรอยด์
- โรคตับและไตเรื้อรัง
- โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- โรคเบาหวาน
- โรคโลหิตจาง
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)
- โรคมะเร็งบางชนิด
- โรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท (Schizophrenia)
วิธีรับมืออาการคันตามตัวตอนกลางคืน
การรักษาอาการคันตามตัวตอนกลางคืนจะแตกต่างกันตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ทั้งนี้ การดูแลตัวเองเมือเกิดอาการคันตอนกลางคืน