ประวัติความเป็นมาของชาวไทใหญ่
ชาว ไทใหญ่ เรียกตนเองว่า “ไต” พม่าเรียกว่า “ชาน” หรือ “ฉาน” ชาวไทใหญ่ ที่อยู่ในเขตประเทศจีน เรียกตนเองว่าเป็นไทเหนือด้วยถือว่าอาศัย อยู่ทางเหนือของแม่น้ำคง(แม่น้ำสาละวิน) และจะเรียก ชาวไทใหญ่ ในพม่า ว่าเป็นไทใต้ใน ประเทศไทย มี ชาวไทใหญ่ อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และ เชียงใหม่ จากตอนใต้ของประเทศจีนเมื่อประมาณศตวรรษที่ 17
ภาษาของชาวไทใหญ่
ภาษาไทใหญ่ หรือ ภาษาฉาน (ไทใหญ่:ลิ่กไต๊) เป็นภาษาตระกูลไท-กะได ใช้พูดในภาคเหนือของ ประเทศพม่า ประเทศไทย และทางตอนใต้ของประเทศจีน มีอักษรเป็นของตนเอง
ชาวไทใหญ่ จะตั้งนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยลุง เช่น ลุงต่า ลุงลู่ ลุงคำ ลุงป้าง ฯลฯ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่นึกไม่ออกว่าจะใช้นามสกุลอะไร ก็เอาชื่อพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วมาตั้งเป็นนามสกุล
ลักษณะบ้านเรือน
ชาวไทใหญ่ อาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ตามหุบเขา มีขนาดตั้งแต่ 20 หลังคา จนถึงขนาด 700 – 1000 หลังคาเรือน ด้านหลังของเมืองมักจะเป็นเชิงเขาหันหน้าเข้าสู่ทุ่งนา ชีวิตของไท ชีวิตถูกกำหนดด้วยฤดูกาล ที่จะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตการทำงาน การประกอบ พิธีกรรม และประเพณีทางศาสนาต่าง ๆ ตลอดปี
การแต่งกาย
การแต่งกาย ชาวไทใหญ่ ผู้ชายสวมเสื้อไต นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าเคียนศีรษะ ส่วนผู้หญิง สวมผ้าซิ่น หรือผ้าถุงยาวคลุมตาตุ่ม เสื้อแขนยาวคลุมเอว สาบเสื้อป้ายทับไปด้านเดียวกับผ้าถุงบ้าง และเป็นแบบหลวม ๆ แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์เป็นแบบรัดรูปเสื้อสั้น สาบเสื้อก็สลับทับไปคนละด้านบ้าง
วัฒนธรรมประเพณี
วิถีชีวิต ชาวไทใหญ่ เช่นพิธีการดำหัวตามประเพณีดั้งเดิมของ ชาวไทใหญ่ การแสดงฟ้อนไต การฟ้อนนก ฟ้อนโต การฟ้อนเจิง การฟ้อนดาบ กับเครื่องดนตรีโบราณ เช่น ระนาดเหล็ก ฆ้องแผง กลองยาว ฉาบ ตียอ หรือไวโอลินพม่า
อาหารของ ชาวไทใหญ่ จะมี “ถั่วเน่า” เป็นเอกลักษณ์ คล้ายกะปิ เป็นอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพอาทิ น้ำพริกคั่วทรายที่ผสมถั่วเน่าเป็นหลัก การทำถั่วเน่าจิ้นลุง หรือลูกชิ้นของ ชาวไทใหญ่ น้ำพริกพู หรือ ขนม เช่น ข้าวหลามมูล คล้าย ๆ กะละแม แต่อยู่ในกระ บอกไม้ไผ่
ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม
ชาวไทใหญ่ จะมีเสื้อบ้านและหอเสื้อบ้านเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนมาประกอบพิธีกรรม เพื่อ ความเป็นสวัสดิมงคลของหมู่บ้าน และเพื่อความอยู่ดีกินดี พืชพันธุ์เจริญงอกงาม วัวควาย สัตว์เลี้ยงทั้งหลายเติบโต ปราศจากโรคภัยจากสภาพทางภูมิศาสตร์ ถิ่นที่อยู่ และความเชื่อประเพณี พิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องผีสางนางฟ้า
ชนเผ่าไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในพื้นทีปฏิบัติงานโครงการหลวง ได้แก่
- สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่