แอดมินได้ไปเที่ยวที่แหลมผักเบี้ยในช่วงสงกรานต์ พอดีแอดมินไม่ค่อยชอบเล่นน้ำสงกรานต์เท่าไหรเลยหาที่เที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพ แอดมินเลือกที่จะไปที่แหลมผักเบี้ย โดยมีชื่อเต็มว่า “โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย” โดยโครงการนี้อยู่ที่ ตำบล แหลมผักเบี้ย อำเภอ บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
โดยโครงการนี้ได้เกิดขึ้นจาก
“…ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้… …โครงการที่จะทำนี้ไม่ยากนัก คือว่า ก็มาเอาสิ่งที่เป็นพิษออก พวกโลหะหนักต่างๆเอาออก ซึ่งมีวิธีทำ ต่อจากนั้นก็มาฟอกใส่อากาศ บางทีก็อาจไม่ต้องใส่อากาศ แล้วก็มาเฉลี่ยใส่ในบึง หรือเอาน้ำไปใส่ในทุ่งหญ้าแล้วก็เปลี่ยนสภาพของทุ่งหญ้าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกพืช ปลูกต้นไม้… …แล้วก็ต้องทำการเรียกว่า การกรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก แล้วก็ปล่อยน้ำลงมาที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก หรือทำทุ่งหญ้า หลังจากนั้นน้ำที่เหลือก็ลงทะเล โดยที่ไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย…”
– กระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533
แหลมผักเบี้ย คือ สถานที่ที่แอดมินจะมาเที่ยวกันครับนอกจากจะเป็นโครงการในพระราชดำริแล้ว สถานที่นี้ยังมีเส้นทางเพื่อศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีทางเดินลัดไปสู่ชายทะเล ซึ่งเส้นทางเข้าป่าชายไปสู่ชายทะเลมีความสวยงามขนาดไหนลองชมภาพได้เลยครับ
ป่าชายเลนคือ สถานที่บำบัดน้ำเสียที่ดีที่สุด ก่อนที่น้ำนั้นจะไหลลงสู่ทะเลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ได้มีพระราชดำริขึ้นเพื่อประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ในอดีตนั้นที่นี่พบกับปัญหาน้ำเสียถึงขนาดน้ำที่จะนำมาใช้ในการอุปโภค บริโภคไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการดังกล่าวเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ มีด้วยกัน 4 ระบบ
- ระบบแรก คือ บ่อบำบัดน้ำเสีย เวลาที่มีน้ำเสียไหลมาแต่ละบ่อก็จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบน และเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับก่อนที่จะนำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
- ระบบที่สอง คือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ซึ่งให้พืชช่วยบำบัดนำเสียโดยการให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้าและหญ้าที่ดีที่สุดก็คือหญ้าธูปฤาษีที่ช่วยปล่อยออกซิเจนจากรากลงไปเติมน้ำให้กลายเป็นน้ำดีได้ และเมื่อครบ 90 วัน ก็จะตัดพืชออก พอตัดแล้วก็นำไปให้กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องสานเพื่อเพิ่มประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้
- ระบบที่สาม คือ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม กลไกก็จะคล้ายกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่จะแตกต่างกันด้วยวิธีการ
- ระบบที่สี่ คือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน โดยการให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดินและชาวบ้านจะไม่เข้ามายุ่ง เพราะเป็นพื้นที่ของงานวิจัยและเมื่อมีโครงการฯ เข้ามาชาวบ้านก็จะเริ่มอนุรักษ์โดยการไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ หรือว่าถ้าเขาจะปล่อยก็จะใช้ผ่านถังดักไขมัน หากบ้านไหนยังไม่มี ชาวบ้านจะมารับถังดักไขมันที่โครงการฯ ได้
แอดมินได้ทำการเดินเข้าสู่ป่าชายเลน ซึ่งเดินไปตามเส้นทางเรื่อยๆ ก็พบว่าที่แหลมผักเบี้ยนี้เป็นสถานที่ สวยและเงียบสงบมากๆ ครับ เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบบรรยากาศแบบธรรมชาติสุดๆ ช่วงที่แอดมินไปอากาศไม่ร้อนมากเท่าไหร ถ้ามาช่วงหน้าฝนตกพร่ำ นั่งกินอาหารตามศาลาที่พักระหว่างทางนี้ คงฟินมาก ๆ แน่ ๆ เลยครับ
ปัจจุบันโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดให้มีการให้ความรู้การฝึกอบรมผ่านกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้สู่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าศึกษาดูงานได้
การเดินทาง
ที่อยู่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย : ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี 76100
พิกัด : 13.0469659,100.0822
โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 131 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่วิ่งทางถนนพระราม 2 การเดินทางให้ใช้เส้นทางเดียวกับการเดินทางลงทางภาคใต้ของประเทศไทย