ราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” เป็นชื่อที่แม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ๆ เองยังคงรู้จักจนถึงทุกวันนี้ เธอเป็นราชินีเพลงลูกทุ่งที่ฝากผลงานเพลงที่ไพเราะ และอยู่ในใจของใครต่อใครหลายคนมากมาย
ถึงวันนี้แม้ราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะจากเราไปแล้วเนิ่นนาน แต่ความทรงจำและเรื่องราวต่าง ๆ ยังคงมีให้ระลึกถึง ณ สถานที่แห่งนี้ “วัดทับกระดาน” จังหวัดสุพรรณบุรี สิ่งต่าง ๆ ของราชินีเพลงลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ภาพถ่าย แผ่นเพลง ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ สามารถหาได้แทบทุกอย่างจากที่นี่
ผมเองไม่ได้มีแผนอะไรมากมายในวันที่เดินทางไป “วัดทับกระดาน” เหตุมาจากเพื่อนคนนึงบอกว่าฝันถึง “วัดทับกระดาน” เช้ามาจึงอยากไป และได้มาพูดคุยกันก็เย็น ๆ เข้าไปละ คุยกันยังไม่ทันจะรู้เรื่องแอดมิน ก็ลางานทันที เพื่อเตรียมเดินทางในวันรุ่งขึ้น
หลังจากสำรวจเส้นทางการเดินทางแล้วก็ไม่มีอะไรให้น่าเป็นห่วง ระยะทางเพียงร้อยกว่ากิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ลุยกันเลย
ชุดสังฆทานก็มีให้ทำบุญสำหรับพุทธศาสนิกชน โดยหยอดเงินใส่ตู้ตามกำลังศรัทธา
ภายในโบสถ์ ก็จะมีข้าวของเครื่องใช้ แผ่นเสียง เสื้อผ้า ภาพถ่าย รวมถึงหุ่นของคุณพุ่มพวง จำนวนมาก
ประวัติราชินีเพลงลูกทุ่งผู้โด่งดัง “พุ่มพวง ดวงจันทร์”
พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีเรื่องราวที่แสนจะน่าอัศจรรย์หลายอย่างนัก อ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงแบบที่หาใครเปรียบได้ยาก มีชื่อจริงว่า “รำพึง จิตรหาญ” เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2504 ณ ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้องจำนวน 13 คนของนายสำราญ และนางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย
คุณผึ้งชอบร้องเพลงตัวแต่ยังเด็ก และเดินทางประกวดร้องเพลงโดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” และมาอยู่กับวงดนตรี ดวง อนุชา ตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ จนเมื่ออายุได้ 15 ปี บิดาและน้าชายได้นำไปฝากฝังให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ โดยใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง สกุณี ก่อนที่ไวพจน์ จะแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง แก้วรอพี่ และหันมาใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เมื่อ พ.ศ. 2519
หลังจากนั้นได้ลาออกจากวงของไวพจน์ไปอยู่กับวง ศรเพชร ศรสุพรรณ มาพร้อมกับธีระพล แสนสุข ได้ไปทำหน้าที่นักร้องพ้อมทั้งเป็นหางเครื่องด้วย แต่หลังจากที่อยู่กับศรเพชรไม่นานก็ได้ย้ายไปอยู่กับวง ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ดได้บันทึกเสียงจากการแต่งของก้อง กาจกำแหง ร้องแก้ขวัญชัย เพลงนั้นคือ รักไม่อันตราย
ชื่อในวงการ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ได้มาจากการตั้งชื่อโดย มนต์ เมืองเหนือและตั้งวงดนตรีเป็นของตนเองโดยการสนับสนุนของคารม คมคาย ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ก่อนที่จะย้ายมาสังกัดบริษัทเสกสรรเทป-แผ่นเสียง
จุดพลิกผันที่ส่งผลให้ชื่อของ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ดังเป็นพลุแตกนั้น หลักจากได้รับการสนับสนุนจาก ประจวบ จำปาทอง และ ปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ให้ตั้งชื่อวงร่วมกับ เสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง “เสรี-พุ่มพวง” จากจุดนี้เองที่ทำให้ชื่อเสียงสูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2515 – 2534 หลังจากออกจากเสกสรรเทป-แผ่นเสียงมาอยู่ในสังกัดอโซน่าด้วยเพลงจากการแต่งของลพ บุรีรัตน์ที่พลิกแนวให้หันมาร้องเพลงสนุกๆ และได้การตอบรับจากคนฟังเป็นอย่างมาก
เพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สาวนาสั่งแฟน ซึ่งเป็นเพลงจุดประกาย ก่อนจะตามมาด้วยเพลง นัดพบหน้าอำเภอ, อื้อฮือหล่อจัง, ดาวเรืองดาโรย, คนดังลืมหลังควาย, นักร้องบ้านนอก, บทเรียนราคาเพลง, หม้ายขันหมาก และอื่นๆอีกมาก นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร้องเพลง ส้มตำ (เพลงพระราชนิพนธ์) พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
พุ่มพวงเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง ได้พบกับไกรสร แสงอนันต์ ได้พาพุ่มพวงพามาเข้าสังกัด อ.ไพจิตร ศุภวารี และมีผลงานอีกหลายชุด เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์ โลกของผึ้ง หลังจากนั้นมาอยู่กับห้างท็อปไลน์ก่อนจะหายหน้าไปจากวงการเนื่องจากป่วยด้วยโรคเอสแอลอี
ราชินีเพลงลูกทุ่งมีบุตรกับไกรสร 1 คน คือ “เพชร สรภพ ลีละเมฆินทร์” และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 พิธีพระราชทานเพลิงศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ จัดที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. พ.ศ. 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี
นอกจากนี้ยังมีการสร้างหุ่นพุ่มพวง ตั้งอยู่ในศาลาริมสระน้ำ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทางวัดจะมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวง ช่วงประมาณวันที่ 13 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเธอ
พิกัดวัดทับกระดาน : 14.142366, 99.914850
ที่อยู่วัดทับกระดาน : ตำบล บ่อสุพรรณ อำเภอ สองพี่น้อง สุพรรณบุรี 72190
สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่
โทร 035-530113, 089-9226234
ประวัติวัดทับกระดาน
จากคำบอกเล่าของพระใบฎีกาสุพจน์ ฐิตาโภ เจ้าอาวาสวัดทับกระดาน ได้เล่าประวัติความเป็นมาของวัดทับกระดานไว้ว่า เดิมนั้นวัดทับกระดานเป็นเพียงสำนักสงฆ์ และไม่ได้ตั้งอยู่ที่วัดทับกระดานในปัจจุบัน แต่ว่าอยู่ไปทางทิศใต้อีกประมาณ 1 กิโลเมตร ในอดีตนั้นชาวบ้านเรียกชื่อว่า “บ้านทัพกันดาร” เนื่องจากเป็นสถานที่กันดาร มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยนิด การเดินทางไปมาก็ลำบาก ไม่สะดวก ต้องใช้วิธีการเดินเท้า หรือใช้วัว ควายเป็นพาหนะเท่านั้น
ในปี พ.ศ. 2476 ปู่บุญ ดอกไม้หอม และ ปู่เสาร์ โภคา พร้อมด้วยชาวบ้านอีกหลายชีวิตได้ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคทรัพย์เพื่อก่อสร้างวัดทัพกันดาร บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ และได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “วัดทับกระดาน” เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านได้อพยพและย้ายวัดทับกระดานมาสร้างใหม่บนพื้นที่ปัจจุบันนี้ แต่ว่าช่วงแรกเริ่มนั้นก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก ซ้ำยังเป็นวัดร้างไปช่วงหนึ่งด้วย
จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2490 พระครูสุวรรณสาธุกิจ ซึ่งเคยบวชและจำพรรษาที่วัดทับกระดาน ได้เดินทางกลับมาเยี่ยมญาติโยมที่บ้าน ชาวบ้านทราบข่าวจึงได้ร่วมกันนิมนต์ให้ท่านช่วยดูแลพัฒนาวัดทับกระดานให้เจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มแรก ๆ นั้นมีเพียงกุฎิสงฆ์ซึ่งเป็นเพียงกระต๊อบที่พักเล็ก ๆ เพียง 2-3 หลัง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 40 ไร่
หลังจากนั้นวัดทับกระดานก็ได้พัฒนาเรื่อยมา มีการเปลี่ยนเจ้าอาวาสแต่ก็ได้พัฒนาไม่หยุดจนกระทั่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในทุกวันนี้