ประวัติความเป็นมา
ชาวอาข่า หรือ อีก้อ หรือ ข่าก้อ อาศัยอยู่ในมณฑลยูนาน แคว้นสิบสองปันนาและไกวเจา เมื่อถูกรุกรานจึงทยอย กันอพยพลงใต้ ไปยังแคว้นเชียงตุง พม่า แคว้นหัวโขง และแคว้นพงสาลี ในลาว บ้านหินแตกปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตของดอยแม่สะลอง จังหวัดเชียงราย เมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว และกระจายไปตาม จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร แพร่ ลำปาง และ เพชรบูรณ์
อาข่า เป็นชนเผ่า ที่สามารถสืบสาวรายนามบรรพบุรุษฝ่ายบิดาขึ้นไปถึงตัว “ต้นตระกูล” ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีการ ทั้งตำนาน สุภาษิตได้เป็นอย่างดี อาข่า แปลว่า อา…เป็นคำขึ้นต้นที่อาข่าใช้เรียกบุคคล ข่า.. แปลว่า ไกล-ห่างไกล มีความหมายว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนดอยสูง ซึ่งห่างไกลจากความเจริญ และไม่ชอบให้เรียก อีก้อ ด้วยถือเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่ง คำว่า อีก้อ แปลว่า หนึ่งคน หนึ่งกลุ่ม
ภาษาของเผ่าอาข่า
ภาษาอาข่าจัดอยู่ในสาจา ยิ (โลโล) ของตระกูลพม่า – ธิเบต มีภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน
ลักษณะบ้านเรือน
ในการเลือกตั้งหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าพิธีกรรม ช่างตีเหล็ก และผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นผู้เลือกสถานที่ และเสี่ยงทายขอที่จากผีเจ้าที่ โดยใช้ไข่ 3 ฟอง โยนลงไปบนพื้น หากไข่แตกก็สร้างหมู่บ้านได้ ถ้าไข่ไม่แตก จะตั้งหมู่บ้านบริเวณนั้นไม่ได้
อาข่า นิยมปลูกบ้านที่มีความสูงประมาณ 3,000 – 4,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ที่ตั้งหมู่บ้านเป็นภูเขาลูกกลางที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง เชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข เลี้ยงสัตว์ดีพืชผลในไร่อุดมสมบูรณ์ หมู่บ้านจะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง เพียงพอสำหรับเด็ก ๆ วิ่งเล่น และใช้เป็นที่ชุมนุมของชาวบ้านในพิธีกรรมหรืองานฉลองต่าง ๆ ได้ด้วย
บ้านอาข่า จะยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีบันได 3 – 5 ขั้น บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน ไม่มีหน้าต่าง มีเตาไฟ 2 เตา สำหรับปรุงอาหาร และสำหรับต้มน้ำชาไว้เลี้ยงแขก
การแต่งกาย
อาข่า ใช้ผ้าฝ้ายทอเนื้อแน่นย้อมเป็นสีน้ำเงินเข้มและสีดำ หญิง สวมเสื้อตัวสั้น กระโปรงพลีทสั้น ผ้าคาดเอวและผ้าพันน่อง ห้อยคอด้วยลูกปัด มีจุดเด่นที่หมวก ประดับด้วยลูกปัดหลากสี ความแตกต่างของหมวก อยู่ที่หญิงวัยเด็ก วัยรุ่น สวมหมวกทรงกลม หากแต่งงานแล้วจะสวมหมวกทรงสูง ผู้ชาย สวมเสื้อคอกลมแขนยาว กางเกงขาก๊วย สีเดียวกัน
วัฒนธรรม ประเพณี
ครอบครัวอาข่าเป็นแบบครอบครัวขยาย อยู่รวมกันหลายครอบครัว หนุ่มสาวอาข่ามีอิสระในการเกี้ยวพาราสีและการเลือกคู่ครอง หากแต่งงานแล้ว ผู้หญิงจะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของผู้ชาย และมานับถือผีฝ่ายสามี
ทุกหมู่บ้านจะมีลานโล่งกลางหมู่บ้านเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นลานดินเรียกว่า “ลานสาวกอด” หรือ “แดห่อง” เป็นลานที่ดินที่หนุ่มสาวชาวอาข่ามาพลอดรักกัน และเด็ก ๆ มาร้องรำทำเพลงกัน นอกจากนี้ก็ยังมีประเพณี ปีใหม่ลูกข่าง ประเพณีไข่แดง โล้ชิงช้า ประเพณีไล่ผี
ศาสนา พิธีกรรมและความเชื่อ
ชาวอาข่า ไม่มีคำว่า “ศาสนา” แต่มีคำว่า “บัญญัติอาข่า” ซึ่งครอบคลุมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีการทุกอย่างในการดำเนินชีวิต มีความเชื่อในเรื่องผี โชคลาง และการเสี่ยงทาย เป็นที่สุด ผีหรือ “แหนะ” ได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวอาข่า มีผีดี เช่น ผีบรรพบุรุษคอยให้ความคุ้มครอง ส่วนผีร้าย มักจะเป็นผีตายทั้งกลม ผีตายโหงผีป่า และผีน้ำ ซึ่งชอบทำให้คนเจ็บป่วย เหตุนี้เองอาข่าจึงไม่นิยมต่อน้ำเข้าหมู่บ้าน และไม่ชอบอาบน้ำ ส่วนผีป่านั้นจะชอบหลอกหลอนคนและทำร้ายคนในป่า
พิธีกรรมของอาข่ามีอยู่ด้วยกัน 9 พิธี ได้แก่
พิธีขึ้นปีใหม่ พิธีเกี่ยวกับการเกษตรก่อนลงมือทำไร่ พิธีทำประตูหมู่บ้าน พิธีบวงสรวงผีใหญ่ พิธีเลี้ยงผีบ่อน้ำ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชไร่ พิธีโล้ชิงช้า เพื่อระลึกถึงเทพธิดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลที่กำลังงอกงาม พิธีกินข้าวใหม่จัดขึ้นเพื่อฉลองรวงข้าวสุกและขอบคุณต่อผีไร่ พิธีไล่ผีออกจากหมู่บ้าน พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ
ชาวเขาเผ่าอาข่า ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการหลวง ได้แก่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง หนองเขียว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง หมอกจ๋าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ห้วยน้ำขุ่น อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่ปูนหลวง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง สะโงะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
- โครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย