“สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”
สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอนว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อ ๆ กันมา โดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมมีอำนาจอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง เมืองสุรินทร์ ได้ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2306 จึงปรากฎหลักฐานว่าหลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคู่ล้อมรอบ 2 ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสุรินทรภักดีได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น “เมืองประทายสมันต์” และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองประทายสมันต์” เป็น “เมืองสุรินทร์” ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 457 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 17 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสุรินทร์ ชุมพลบุรี ท่าตูม จอมพระ ปราสาท กาบเชิง รัตนบุรี สนม ศีขรภูมิ สังขะ สำโรงทาบ บัวเชด ลำดวน ศรีณรงค์ พนมดงรัก เขวาสินรินทร์ และ โนนนารายณ์
การเดินทาง
จังหวัดสุรินทร์ เป็นเมืองหลักของภาคอีสานตอนล่าง เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการคมนาคม จึงมีเส้นทางคมนาคมหลักทั้งทางรถยนต์ รถไฟ มีทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงจังหวัด และเส้นทางมาตรฐานหลายสาย ทำให้การเดินทางติดต่อภายในจังหวัด การเดินทางสู่จังหวัดใกล้เคียงและกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความสะดวก
ทางรถยนต์
การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดสุรินทร์ใช้ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 24 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ แยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (ตรงแยกอำเภอปราสาท) จนถึงจังหวัดสุรินทร์
การเดินทางในตัวจังหวัด
การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ของจังหวัดสุรินทร์ระหว่างชนบท หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่าง ๆ มีความสะดวก เพราะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมติดต่อกัน การเดินทางโดยรถยนต์ระหว่างจังหวัดกับอำเภอ ระยะทางที่ไกลที่สุดคือ อำเภอชุมพลบุรี ระยะทาง 91 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง ระยะทางที่ใกล้ที่สุดคือ อำเภอเขวาสินรินทร์ ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 30 นาที โดยระยะทางจากตัวจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์) ไปยังอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ เรียงจากใกล้ไปไกล ดังนี้
- อำเภอเขวาสินรินทร์ 14 กิโลเมตร
- อำเภอจอมพระ 25 กิโลเมตร
- อำเภอลำดวน 26 กิโลเมตร
- อำเภอปราสาท 28 กิโลเมตร
- อำเภอศีขรภูมิ 34 กิโลเมตร
- อำเภอสังขะ 51 กิโลเมตร
- อำเภอสนม 51 กิโลเมตร
- อำเภอท่าตูม 52 กิโลเมตร
- อำเภอสำโรงทาบ 54 กิโลเมตร
- อำเภอกาบเชิง 58 กิโลเมตร
- อำเภอศรีณรงค์ 64 กิโลเมตร
- อำเภอรัตนบุรี 70 กิโลเมตร
- อำเภอบัวเชด 70 กิโลเมตร
- อำเภอโนนนารายณ์ 75 กิโลเมตร
- อำเภอพนมดงรัก 78 กิโลเมตร
- อำเภอชุมพลบุรี 91 กิโลเมตร
สำหรับการเดินทางในตัวจังหวัด จะใช้การจราจรโดยรถส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์รวมทั้งจักรยาน สำหรับระบบมวลชนจะมี รถเมล์ชมพู ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง/สามล้อปั่น บริการในจังหวัดสุรินทร์ มีสถานีขนส่งภายในตัวจังหวัดเชื่อมต่อจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ดังนี้ คือ
- สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุรินทร์
- สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอปราสาท
- สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอสังขะ
- สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอรัตนบุรี
ทางรถไฟ
การคมนาคมทางรถไฟ ปัจจุบันมีรถไฟสายกรุงเทพฯ-สุรินทร์ โดยผ่านจังหวัดปทุมธานี อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ จนถึงสุรินทร์ เปิดการเดินรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ และรถดีเซลรางปรับอากาศ กรุงเทพ-สุรินทร์
ทางอากาศ
การคมนาคมทางอากาศ จังหวัดสุรินทร์มีท่าอากาศยานสุรินทร์ภักดี ซึ่งในอดีตได้เปิดทำการบินโดยบริษัท บางกอกแอร์เวย์-แอร์อันดามัน- พีบีแอร์ซึ่งเมื่อปลายปี 2552 สายการบินพีบีแอร์จะเปิดทำการบิน แต่เนื่องจากทางบริษัทประสบปัญหาทางหารเงินจึงได้ปิดกิจการไปก่อน จึงไม่สามารถทำการบินได้ แต่ว่าในอนาคตนี้น่าจะได้ทำการบินอีกครั้ง และได้ปรุบปรุงสนามบินทุกอย่าง และในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2554 ได้มีสายการบิน ไทย รีเจียนัล แอร์ไลน์ ได้ทำการบินทุกวัน วันละ 2 เที่ยว
ภาพประกอบจาก 12 เมืองต้องห้ามพลาด +
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
- กลุ่มปราสาทตาเมือน ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก
- วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์
- วนอุทยานพนมสวาย ตำบลสวาย-ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์
- ปราสาทศีขรภูมิ ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ
- ปราสาทตาควาย ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก
- ปราสาทเมืองที ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์
- ปราสาทยายเหงา ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ
- ปราสาทภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ
- ปราสาทหินบ้านพลวง ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท
- ปราสาทบ้านไพล บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท
- ปราสาทช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ
- ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย (ปราสาทบ้านจารย์) ตำบลจารย์ อำเภอสังขะ
- ปราสาทบ้านอนันต์ บ้านอนันต์ ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ
- ปราสาทตะเบียงเตีย บ้านหนองเกาะ ตำบลตะเปียงเตีย อำเภอลำดวน
- ปราสาทบ้านสนม (ปราสาทวัดธาตุ) บ้านสนม ตำบลสนม อำเภอสนม
- น้ำตกไตรคีรี เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกถ้ำเสือ เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกปะอาว ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง
- น้ำตกวังตะเคียน (ทะมอบั๊ก) ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก
- น้ำตกโอตราว เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกโอทะลัน เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกกรูงคลา เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- น้ำตกโตงใหญ่ วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- น้ำตกผาดอกบัว วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- ผาถ้ำพระ เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- พุทธอุทยานเขาศาลาอตุลฐานจาโร หรือ วัดเขาศาลาอตุลฐานจาโร เขาศาลา บ้านจรัส ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด
- เขื่อนห้วยตาเกาว์ใหม่ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อำเภอกาบเชิง
- จุดชมวิวช่องปลดต่าง ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง
- ชุมชนบ้านสันปันน้ำ อำเภอพนมดงรัก
- หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- พระดินปั้นพันปี วัดตามตอมจอมสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์
- ทะเลสาบทุ่งกุลา ตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี
- ศูนย์คชศึกษา ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม
เทศกาลท่องเที่ยว
- ประเพณีเทศกาลงานช้างและงานกาชาดจังหวัด (มีการแสดงแสงสี ทั้งในงานและนอกงานที่ปราสาทศีขรภูมิ และ งานจัดเลี้ยงโต๊ะอาหารช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมสถิติโลกโดย กินเนส เวิรลด์ เรคคอร์ด)
- ประเพณีแซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ (สารทเขมร)
- ประเพณีขึ้นเขาพนมสวาย บูชาเทพเจ้า สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9
- ประเพณีบวชนาคช้าง
- เทศกาลงานข้าวหอมมะลิสุรินทร์
- ประเพณีแข่งเรือ ณ ลุ่มแม่น้ำมูล อำเภอท่าตูม
- ประเพณีนมัสการขึ้นกลุ่มปราสาทตาเมือน
- เทศกาลสนมเมืองดอกจาน ประสานใจไหว้ปู่ตา (มีการประกวดธิดาเมืองดอกจาน ผ้าใหมลายดอกจาน พร้อมแสงสีเสียง และยังมีขบวนแห่ที่ยาวมาที่สุดในภูมิภาคสุรินทร์เหนือ งานจัดแสดงสินค้าของดีเมืองดอกจาน) ณ อำเภอสนม
- ประเพณีสืบสานตำนานปราสาทภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ (มีการแสดงแสงสีเสียง ตำนานเนียงด็อฮฺธม ช่วงวันที่ 8 – 12 เมษายน ทุกปี)
- ประเพณีบุญบั้งไฟประจำปี ณ.อำเภอรัตนบุรี มีการประกวดขบวนแห่ ขบวนรำ และ จุดบั้งไฟขึ้นสูงใหญ่ที่สุดใน จังหวัดสุรินทร์ ช่วง เดือน พฤษภาคมของทุก ๆ ปี อ.รัตนบุรี
- ประเพณีกวนข้าวทิพย์ลอยฟ้า วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษาของทุกปี
- งานสมโภชน์ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและสิ่งศักสิทธิ์คู่เมืองสุรินทร์ (มีการแสดงบนเวทีมากมาย การเชิดสิงห์โต การแสดงงิ้ว มหกรรมอาหารดีหลากหลายของเมืองสุรินทร์)
- ประเพณีเทศกาลไหว้เจ้าพ่อตาดาน ปลายเดือนพ.ย ของทุกปี อ.สังขะ
- เทศกาลปลาไหล ข้าวใหม่หอมมะลิ และงานกาชาด อำเภอชุมพลบุรี จัดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ที่สามในเดือนธันวาคมของทุกปี
- งานสืบสานตำนานปราสาทยายเหงา ช่วงปลายเดือนเม.ย ของทุกปี ต.บ้านชบ อ.สังขะ
- ประเพณีปอ๊อกเปรี๊ยะแค (พิธีไหว้พระจันทร์) วัดดาราธิวาส บ้านขนาดมอญ ตำบลตาตุม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี