เต็นท์ในท้องตลาดมีหลากหลายประเภทให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเลือกหา ราคาก็แปรผันกันไปตามแต่ละประเภทและรูปทรงที่ซื้อ มีทั้งที่เริ่มต้นไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นเลยก็มี ทั้ง ๆ ที่มันคือเต๊นท์เหมือนกัน เคยสงสัยกันบ้างมั้ยล่ะครับว่ามันมีอะไรที่แตกต่างกัน ทำไมราคามันถึงได้แตกต่างกันถึงเพียงนี้ บทความนี้ผมจะพาไปเคลียร์ข้อสงสัยให้กระจ่างครับ
เต็นท์คืออะไร
เต็นท์ คือ อุปกรณ์สำหรับเป็นที่พักชั่วคราวมีทั้งแบบที่ใช้สำหรับการเดินทางหรือเป็นถาวรจำพวกเต็นท์รถ รวมถึงเต็นท์ผ้าใบที่มักจะนำมากางตามงานสังสรรค์ต่าง ๆ แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะเต็นท์ที่ใช้สำหรับการเดินทางเท่านั้น
วัสดุที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเต็นท์ประเภทนี้ มักจะเป็นผ้าใยสังเคราะห์ เช่น ไนลอน หรือ โพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติในการกันน้ำได้ ส่วนของฟลายชีต หรือ แผ่นคลุมเต็นท์นั้นก็ควรมีการเคลือบกันน้ำอีกที คุณภาพของเต็นท์นั้นนอกจากจะใช้วัสดุที่ดีแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะต้องมาจากการผลิตที่ดีพิถีพิถันด้วย
ส่วนประกอบของเต็นท์มีอะไรบ้าง
ฟลายชีต หรือ แผ่นคลุมด้านบน
เป็นส่วนที่คลุมอยู่ด้านบนสุดของเต็นท์ ไม่ตั้งแต่ขนาดที่เป็นแผ่นเล็ก ๆ เพียงไม่กี่สิบเซนติเมตร หรือ อาจจะเป็นแผ่นใหญ่ไปจนสามารถคลุมเต็นท์ลงมาได้ทั้งหลัง ทำหน้าที่ช่วยกันแดดกันฝนจากภายนอกให้ตัวเต็นท์ ฟลายชีตยิ่งหนาหรือยิ่งแผ่นใหญ่ก็จะมีความสามารถในการกันน้ำกันฝนได้เยอะ แต่อาจจะต้องแลกมาด้วยความร้อนภายในเต็นท์เพราะฟลายชีตแผ่นใหญ่เกินไปจะทำให้อากาศถ่ายเทภายในเต็นท์ทำได้น้อย
ตัวเต๊นท์
ตัวเต๊นท์เองจะทำหน้าที่เป็นแหล่งพักอาศัย และ ช่วยกันแมลง กันลม ฯลฯ วัสดุภายในเต็นท์มักจะเป็นผ้าไนลอนหรือผ้าโพลีเอสเตอร์ เต็นท์ที่ดีควรมีดีไซน์ที่ระบายอากาศได้เพียงพอและมีส่วนประกอบ เช่น มุ้ง ที่จะช่วยให้เปิดเต็นท์แต่ยังสามารถป้องกันแมลงเล็ก ๆ ได้
พื้นเต็นท์
เป็นวัสดุด้านล่างที่จะมีลักษณะสีดำเป็นส่วนมาก และ หนาที่สุด เพราะจะต้องช่วยป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับพื้นดินของผู้พักอาศัย แถมต้องกันน้ำได้ด้วยในกรณีที่มีน้ำไหลผ่าน วัสดุก็มักจะเป็นผ้าใยสังเคราะห์ที่มีความสามารถในการกันน้ำได้
เสาเต็นท์
เป็นอุปกรณ์ที่เป็นโครงสร้างให้เต็นท์อยู่ตัว เสาเต็นท์มักจะผลิตด้วยอลูมีเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ ในเต็นท์ราคาแพงมักจะเลือกใช้เป็นอลูมีเนียมเพราะมีความสามารถในการยืดหยุ่นได้ดีกว่าและมีน้ำหนักที่เบา
สมอบก
เป็นอุปกรณ์ที่ยึดตัวเต็นท์เอาไว้กับพื้นดิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ถ้าเจอลมหรือพายุจะได้ไม่ปลิวไปตามลม วัสดุที่ใช้ผลิตสมอบกส่วนมากจะเป็นอลูมีเนียมเพราะมีน้ำหนักเบาและทนทานแข็งแรง นอกจากนั้นก็จะมีเหล็กชุบ ไฟเบอร์ใยแก้ว พลาสติก รวมไปถึงไม้ แต่ถ้าไม่มีสมอบกก็สามารถที่จะประยุกต์พวกไม้หรือตะปูอันยาว ๆ มาใช้แทนสมอบกได้
เต็นท์ รูปแบบเต็นท์แต่ละทรงมีดังนี้
เต็นท์รูปทรงสามเหลี่ยมหรือเต็นท์ลูกเสือ (A Frame)
เต็นท์แบบนี้ถูกออกแบบมาเป็นชนิดแรก จึงไม่มีความซับซ้อนทางด้านการออกแบบแต่อย่างใด โดยมีข้อดีในเรื่องการระบายน้ำได้ดี เป็นเต็นท์พื้นฐานที่สามารถนำวัสดุใกล้เคียงมาซ่อมแซมได้เมื่อเต็นท์เสียหาย เมื่อรูปทรงเต็นท์เป็นสามเหลี่ยมจึงทำให้มีพื้นที่ภายในด้านบนแคบ
เต็นท์รูปทรงบ้าน (Cabin)
เป็นเต็นท์ที่ถูกพัฒนามาใช้กับกิจกรรมเดินทางด้วยรถ ซึ่งไม่มีข้อจำกัดน้ำหนักมากนักในการขนย้าย สามารถแบ่งเป็น ห้องหรือพื้นที่ทำกิจกรรมโดยเปลี่ยนเป็นฟลายชีทได้
เต็นท์รูปทรงโดม (Dome)
เต็นท์ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยการดึงของสมอ จึงสามารถตั้งได้ทุกสภาพพื้นผิว การที่มีรูปทรงเป็นครึ่งวงกลมจึงทำให้พื้นที่ภายในกว้างขึ้นและทำกิจกรรมอย่างอื่นภายในได้มากขึ้น
เต็นท์รูปทรงจีโอโดสิคโดม (Geodosic Dome)
เป็นเต็นท์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากเต็นท์รูปทรงโดม โดยเพิ่มเสาด้านข้าง 2 เสา ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น พื้นที่ภายในมีมากขึ้น แต่ก็ทำให้น้ำหนักเต็นท์มากขึ้นด้วย
เต็นท์รูปทรงท่อ (Tunnel)
เต็นท์ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในลักษณะพื้นที่ ที่มีลมแรง การที่รูปทรงเต็นท์เป็นรูปทรงท่อจึงลดแรงประทะของลมทุกด้าน โครงสร้างเสาเป็นรูปโค้งจึงลดการปะทะทำให้เสาเสียหายน้อยลง เป็นเต็นท์ที่ถูกออกแบบให้ใช้เฉพาะที่
เต็นท์รูปทรงกรวย (Hoop)
เป็นเต็นท์ที่ถูกพัฒนาให้ใช้กับคนจำนวนน้อยหรือในพื้นที่น้อย เป็นเต็นท์ที่ถูกออกแบบใช้เฉพาะ
เต็นท์รูปทรงปิรามิด (Pyramid)
เต็นท์มีน้ำหนักเบา ใช้เสาอลูมิเนียมหรือไม้เท้ามาทำเป็นเสา ดังนั้นเต็นท์จึงมีน้ำหนักเบาและเล็กกะทัดรัด แต่ต้องการใช้การตอกสมอและดึงเชือกในการตั้งเต็นท์
เต็นท์สปริง (Spring)
เป็นเต็นท์ที่ใช้ขดลวดสปริงเป็นโครงสรางอยู่ภายในเต็นท์ ดังนั้นมันจึงกางเต็นท์ได้ง่ายที่สุด คือแค่โยนขึ้นไปในอากาศโครงสปริงก็จะดันตัวเต็นท์ให้กางออกเสร็จสรรพในพริบตา แต่จะไม่แนะนำให้ซื้อเต็นท์ประเภทนี่มาใช้เพราะมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากตัวเสาเต็นท์ทำจากขดลวดสปริง
- เรียบเรียงเพิ่มเติมจากต้นฉบับ www.camping.in.th