ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง พระบาทห้วยต้ม เป็นโครงการหลวงเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ซึ่งสภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นแปลงสาธิตในศูนย์ฯแล้ว ยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจ
ประวัติความเป็นมา
ปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวเขา ทรงมีพระราชดำริว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ขาดแคลนที่ทำกิน ชาวบ้านเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเด็กๆและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้อพยพมารวมกันอยู่เช่นนี้เป็นผลดีใน การหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อม จะได้ไม่ไปรับจ้างชาวเขาเผ่าอื่นอีกด้วย” จากนั้นทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้ารับหมู่บานพระบาทห้วยต้มอยู่ในการดูแล ของมูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มตั้งอยู่ใน เขตตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีพื้นที่รับผิดชอบ 24,631ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 480-500 เมตร มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน โดย 8 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บริโภคอาหารมังสาวิรัติ ได้แก่ กะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสะกอ
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- แปลงสาธิตการปลูกมะม่วง ช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และ เสาวรส มีผลผลิตตลอดปี
- การปลูกองุ่นในโรงเรือน เดือน พฤษภาคม และ เดือนพฤศจิกายน แปลงปลูกผักตามฤดูกาล ได้แก่ มะระหยก มะระขาว พริกเม็กซิกันเผ็ด คะน้ายอด และการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ได้แก่ พระฐานที่ประทับพระสรีระทิพย์ของหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา รอยพระพุทธบาท น้ำบ่อทิพย์ ใจบ้าน พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
- ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ที่บ้านพระบาทห้วยต้ม การแต่งกายชุดพื้นบ้านปกาเกอะญอ เป็นชุดผ้าทอที่ทอด้วยกี่เอว และทอเป็นชุดยาวมีลวดลายที่สวยงามตามความถนัด แล้วตกแต่งด้วยพู่ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นชุดสำหรับคนที่แต่งงานแล้วก็จะใส่ชุดแบบเป็นเสื้อครึ่งท่อนแล้วมี ผ้าถุง ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะใส่กางเกงและใส่เสื้อสีแดงครึ่งท่อน บ้านน้ำบ่อน้อย ที่มีเอกลักษณ์เรียบง่ายชาวบ้านมีภูมิปัญญาการทำสร้อยจากกะลามะพร้าว
- ประเพณีเปลี่ยนผ้าหลวงปู่ครูบาชัยยะวงษาพัฒนา ทุกวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี จะมีพิธีเปลี่ยนผ้าให้กับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาและทำพิธีอุทิศส่วนกุศล ให้ท่าน พิธีกรรมจะเริ่ม ตั้งแต่ วันที่ 15 -17 พฤษภาคมของทุกปี โดยพิธีเริ่มมาตั้งปี 2544 จนถึงปัจจุบัน
- การทำบุญทอดกฐิน เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ จัดขึ้นหลังจากออกพรรษาของทุกปี โดยจะมีการทำต้นไทยทาน (ต่าบุ๊เด่อ ** ภาษากะเหรี่ยง) ขนาดใหญ่ที่สวยงามตามประเพณีของชนเผ่าปกาเกอญอ และนอกจากนั้นก็จะเป็นต้นไทยทานสำหรับห้อยแขวนเครื่องไทยทานที่ชาวบ้านร่วม กันนำมาทำบุญ ในวันแต่งดาและต้นเงิน ในตอนเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตร ช่วงบ่ายชาวบ้านจะแต่งชุดประจำเผ่าอันสวยงามเข้าร่วมขบวน โดยมีพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ เข้าร่วมขบวนแห่ตุงธง ผ้าห่มองค์พระธาตุ และต้นไทยทานชาวปกาเกอญอจะเป็นผู้แบกหาม จากวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และในบริเวณวัดมีการจัดโรงทานตลอดทั้งวัน เป็นอันเสร็จพิธี
- การทำบุญตักบาตรทุกวันพระ ทุกวันพระจะมีการทำบุญตักบาตร และชุมชนแต่งกายชุดชนเผ่าอย่างพร้อมเพรียงในการเข้าวัด กิจกรรมใส่บาตร จะเริ่มเวลา 06.00 – 07.00 วิธีการทำบุญใส่บาตรของชาวบ้าน อาหารที่ใส่บาตรจะเป็นพืชผักผลไม้สดและอาหารเจ โดยทำการใส่บาตร ณ ศาลาตักบาตรวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านที่ไม่ได้เตรียมอาหารเจ สามารถเลือกซื้อพืชผักผลไม้สด จากตลาดท้องถิ่นในทุกวันพระบริเวณหน้าวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม (http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122250)
กิจกรรมท่องเที่ยว
- การสรงน้ำพระธาตุ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 (ประมาณเดือนมิถุนายน) ของทุกปี เป็นการขอขมารอยพระพุทธบาทและครูบาทุกพระองค์ ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร และเวลา 13.00 น. จะทำพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท โดยจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ในรางไม้ไผ่ให้ไหลลงรอยพระพุทธบาทและสรงน้ำรูป ปั้นจำลองพระเกจิอาจารย์ ส่วนชาวบ้านก็จะตักเอาน้ำจากรอยพระพุทธบาทและน้ำที่ได้จากการสรงครูบาทุก พระองค์ นำไปพรมศีรษะเป็นน้ำพระพุทธมนต์และนำกลับบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว
- ทำบุญตักบาตร ไหว้พระและเวียนเทียน ในวันสำคัญ เช่น วันพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญทอดกฐิน
- เปลี่ยนผ้าครูบา ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
- ชมการสร้างบ้านแบบโบราณและวิถีชีวิต ณ บ้านโบราณน้ำบ่อน้อย เรียนรู้งานด้านหัตถกรรม การปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย การย้อมสี การทอผ้า และการจักสานไม้ไผ่ กิจกรรมนำชมหรือแนะนำการท่องเที่ยว และกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นประวัติชุมชน การตั้งถิ่นฐาน (ให้ข้อมูลชุมชนโดย มัคคุเทศก์ท้องถิ่น)
ที่พักชุมชนพระบาทห้วยต้ม
กลุ่มโฮมสเตย์บ้านพระบาทห้วยต้ม ผ่านการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จำนวน 7 หลัง รองรับได้หลังละ 3 คน ราคา 150 บาท /คน/คืน
ร้านอาหารชุมชนพระบาทห้วยต้ม
- ร้านอาหารมังสวิรัติ อยู่ข้างวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
- ร้านอาหารนอกศูนย์ฯ ได้แก่ ครัวมะพร้าว ครัวน้ำพุ ครัวระเบียงน้ำ อยู่ห่างจากศูนย์ 11 กิโลเมตร
ร้านขายของที่ระลึก
ร้าน OTOP พระบาทห้วยต้ม ศูนย์วิจัยหัตถกรรมหมู่ที่ 12
ของฝากของที่ระลึก
- ผลไม้ตามฤดูกาล
- ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชาวเขา เช่น เครื่องเงิน ผ้าทอกะเหรี่ยง สิ่งประดิษฐ์จากกะลามะพร้าว เครื่องจักรสาน ฯลฯ
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 160 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 เชียงใหม่-ลำพูน ผ่านตำบลบ้านโฮ่ง ป่าซาง ไปจนถึงตัวอำเภอลี้ แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 1087 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 7 จะมีทางแยกซ้ายมือไปอีก 1 กิโลเมตร จนถึงที่ตั้งศูนย์ ที่พักของเอกชน ได้แก่ อิงฟ้ารีสอร์ท ไพลินรีสอร์ท ต้นปามล์รีสอร์ท อยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม ประมาณ 11 กิโลเมตร
พิกัดศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม : 17.7292567,98.9405334
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม บ้านผาลาด ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110 โทรศัพท์ 053-518059 หรือ 083-3243063 คณะกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนพระบาทห้วยต้ม คุณสุรีพร พงศากมล 087-1856171