เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องทำหนังสือเดินทาง หากเป็นเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็คงเดาได้ว่าเป็นอย่างไร กับการที่ต้องไปเสี่ยงโชคต่อคิวรอกันตั้งแต่ไก่โห่ ต้องลางานไปแบบไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้ทำพาสปอร์ตวันนั้นหรือไม่ เพราะในขณะนั้นสำนักงานหนังสือเดินทางยังมีสาขาน้อยแห่ง และปริมาณคนอยากเที่ยวเมืองนอกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มากล้น! ดังนั้นกรมการกงสุลเขาจึงปิ๊งไอเดียเด็ดเพื่อรับมือกับขาเที่ยวทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสาขาสำนักงานหนังสือเดินทาง “ระบบลงทะเบียนหนังสือเดินทางล่วงหน้า” แบบออนไลน์ที่กดแค่ไม่กี่คลิกคุณก็เดินตัวปลิวไปทำหนังสือเดินทางได้ทันที แต่ระบบนี้จะเป็นอย่างไร? ใช้ง่ายอย่างที่ว่าจริงหรือไม่? มาลองไป จองคิวทำพาสปอร์ต พร้อม ๆ กันเลย
“โบกมือลาการยืนต่อคิวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางกันได้แล้วในยุคไทยแลนด์ 4.0 เพราะแค่คลิกเลือกวัน เวลา สถานที่จากที่บ้าน คุณก็ได้คิวทำหนังสือเดินทางมาอยู่ในมือเลยทันที!”
รู้จักกับระบบลงทะเบียนหนังสือเดินทางล่วงหน้า
จากปัญหาด้านการต่อคิวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางที่มีผู้ใช้บริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมการกงสุลจึงได้จัดทำระบบจองคิวทำพาสปอร์ตออนไลน์ขึ้นมา เพื่อช่วยแบ่งเบาไม่ให้ผู้ใช้บริการมารอคิวสะสมตั้งแต่เช้า ด้วยการจัดสรรให้คุณสามารถเลือกวันและเวลาไปใช้บริการที่สะดวกได้เอง และเลือกสาขาที่ต้องการใช้บริการใกล้บ้านคุณได้ ซึ่งระบบจะมีสถิติให้ดูด้วยว่าที่ผ่านมาวันไหนของสาขาใดมีคิวอยู่เท่าไหร่ และปัจจุบันมีคนจองคิวในแต่ละช่วงเวลาอยู่กี่คิวแล้ว รวมทั้งลดเวลาการกรอกและสอบถามข้อมูลทั่วไปที่สำนักงาน อาทิข้อมูลการจัดส่ง เพราะคุณสามารถกรอกข้อมูลที่จำเป็นได้จากระบบออนไลน์ได้เลย สะดวกสุดๆ เลยเห็นไหมล่ะ!
เมื่อรู้จักกับระบบลงทะเบียนหนังสือเดินทางล่วงหน้ากันพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็เริ่มมาใช้งานจริงได้เลยที่เว็บไซต์ www.passport.in.th โดยคุณสามารถเข้าใช้งานได้ทั้งคอมพิวเตอร์พีซี สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งทุกอุปกรณ์จะมีหน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบ
วิธีการลงทะเบียนหนังสือเดินทางล่วงหน้า
1. การเข้าใช้งานและเมนูต่าง ๆ
หลังจากเข้าสู่เว็บไซต์ข้างต้นแล้ว หน้าแรกของเว็บไซต์จะเป็นการแนะนำระบบสักเล็กน้อยก่อนให้กด “เข้าสู่ระบบ” ที่ด้านล่างสุด คุณก็จะพบกับเมนูหลักของระบบจองคิวออนไลน์ หรือสามารถเข้าสู่หน้าเมนูหลักโดยตรงได้ที่ www.passport.in.th/eService/ ก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน โดยคุณจะเห็นเมนูทั้งหมด 8 เมนูดังนี้
- ลงทะเบียนทำ Passport : เป็นเมนูแรกที่คุณต้องใช้งานเมื่อต้องการจองคิวจริง ซึ่งต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนก่อนการจองคิว และลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นจะเข้าใช้งานได้ทุกเมื่อโดยไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำอีก
- ตรวจสอบสถานะ Passport : เมื่อคุณทำหนังสือเดินทางแล้ว คุณสามารถตรวจสอบสถานะการทำและจัดส่งหนังสือเดินทางได้ทุกขั้นตอนจนกว่าหนังสือเดินทางจะถึงมือคุณ
- หมายเลขคิวที่เข้ารับบริการ : คุณสามารถตรวจสอบคิวปัจจุบัน จำนวนคิวที่รออยู่ และเวลาคิวสุดท้ายของแต่ละสาขาได้เพื่อประเมินว่าคุณต้องใช้เวลาอีกเท่าใด
- จำนวนคิวทำ Passport : คุณสามารถดูสถิติของทุกสาขาได้พร้อมกันว่าสาขาใดมีจำนวนคิวเท่าไหร่ เข้ารับบริการแล้วกี่คิว และยังรออยู่อีกกี่คิว เพื่อประเมินว่าคุณจะใช้บริการที่สาขาใดอย่างรวดเร็วที่สุด
- แผนที่สาขาให้บริการ : คุณสามารถดูสาขาทั้งหมดของสำนักงานหนังสือเดินทาง เวลาทำการ ตำแหน่ง GPS ระยะทางจากตำแหน่งของคุณ และเข้าสู่แผนที่เพื่อนำทางไปยังสาขาที่ใกล้ที่สุดได้
- สถิติการให้บริการ : คุณสามารถดูสถิติจำนวนผู้เข้าทำหนังสือเดินทางของแต่ละสาขาได้ 5 วันย้อนหลัง เพื่อประเมินว่าคุณควรเลือกไปทำหนังสือเดินทางวันไหนที่อาจจะมีผู้ใช้บริการน้อยที่สุดได้
- คำถามที่พบบ่อย : หากมีข้อสงสัยในเบื้องต้น สามารถอ่านคำถามทั่วไปที่พบได้ โดยระบบจะเชื่อมต่อไปยังคำถามที่พบบ่อยใน Facebook “พาสปอร์ตไทยออนไลน์”
- สอบถามข้อมูล : ระบบจะเชื่อมต่อไปยังหน้าหลักของ Facebook “พาสปอร์ตไทยออนไลน์” ซึ่งมีข่าวสารทั่วไป และมีเจ้าหน้าที่พร้อมตอบข้อสงสัยของผู้ใช้บริการอยู่เสมอ
2. ลงทะเบียนก่อนจอง
ที่เมนู “ลงทะเบียนทำ Passport” เมื่อคลิกเข้ามาคุณจะพบกับเมนูย่อยในการลงทะเบียนที่คุณสามารถเลือกได้ทั้งการ Login ด้วย Facebook หรือ Gmail หรือสมัครสมาชิกใหม่ ซึ่งเราขอแนะนำการ “สมัครสมาชิกใหม่” เพื่อกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนได้ในคราวเดียว โดยให้กรอกข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอีเมล รหัสผ่าน บัตรประจำตัวประชาชน วัน/เดือน/ปี/เกิด ชื่อไทยและอังกฤษ หมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ สุดท้ายให้เลือกรูปภาพตามคำสั่งให้ถูกต้องเพื่อยืนยันตัวตน
หลังจากขั้นตอนนี้ คุณจำเป็นต้องตรวจสอบอีเมลของคุณเพื่อยืนยันตนด้วยการคลิกลิงค์ แล้วเลือกรูปภาพตามคำสั่งอีกครั้ง จากนั้นคุณจึงสามารถลงชื่อเข้าใช้ได้ที่เมนูย่อย “Login ด้วยบัญชีที่มีอยู่แล้ว” ซึ่งอยู่ในหน้าเดียวกับเมนูลงทะเบียน
3. ทำการจองคิวด้วย 8 ขั้นตอนสั้นๆ
หลังจากที่ลงชื่อเข้าใช้แล้วคุณจะพบกับเงื่อนไขการให้บริการ โปรดอ่านข้อความให้ครบถ้วน โดยเงื่อนไขหลักๆ ที่คุณควรทราบคือ 1 บัญชีจองได้ 1 รายการ และต้องจองคิวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันไม่นับวันหยุด ล่วงหน้าสูงสุดไม่เกิน 5 วัน และเมื่อจองเวลาใด คุณต้องไปถึงสำนักงานสาขาที่จองไว้ ก่อนเวลาจอง 30 นาที ช้ากว่านั้นระบบตัดชื่อคุณออกทันที และถ้าคุณผิดเงื่อนไขข้างต้น คุณจะไม่มีสิทธิ์จองคิวไปอีก 30 วันเลยทีเดียว! ดังนั้นต้องระมัดระวังให้ดี เมื่อรับทราบตามนี้ก็กดยอมรับข้อกำหนด แล้ว “ตกลง” เพื่อทำรายการต่อไป
หลังจากยอมรับเงื่อนไขแล้ว ระบบก็จะเปิดให้คุณเลือกสาขาที่สามารถจองคิวได้เป็นขั้นตอนแรก โดยจะแสดงช่วงเวลาที่รับจองคิว จำนวนคิวที่ว่างให้จอง ระยะทางจากตำแหน่งของคุณ และกดปุ่ม “จอง” เพื่อเลือกสาขาที่ต้องการ และโปรดทราบว่าระหว่างการทำการจอง หากปิดหน้าต่างหรือย้อนกลับจนถึงหน้าเมนูหลัก ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมดทันที
หลังจากเลือกสาขาในขั้นตอนที่ 1 แล้ว ระบบก็จะให้คุณเลือกวันที่สะดวกไปทำหนังสือเดินทางในขั้นตอนที่ 2 โดยจะแสดงจำนวนคิวที่ว่างให้จองแยกเป็นรายวัน และเมื่อเลือกวันคุณก็ต้องเลือกช่วงเวลาอีกครั้งในขั้นตอนที่ 3 โดยจะสังเกตได้ว่าระบบจะแบ่งช่วงเวลาออกเป็นทุกๆ 15 นาทีตั้งแต่เปิดทำการ หมายความว่าคุณ (อาจ) จะใช้เวลาเพียง 15-30 นาทีสำหรับการทำหนังสือเดินทางด้วยวิธีนี้
ทางทีมงานได้ลองทำพาสปอร์ตโดยมีการจองคิวออนไลน์ล่วงหน้าพบว่า ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก็เสร็จครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจรับบัตรคิว วัดส่วนสูง ถ่ายภาพ เก็บลายนิ้วมือ จ่ายเงิน ไปจนถึงรับใบนัดรับพาสปอร์ต
หลังจากเลือกเวลาที่จะเข้าไปทำหนังสือเดินทางแล้ว ต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนที่ 4 คือการเลือกวิธีการรับหนังสือเดินทาง ซึ่งคุณสามารถเลือกรับด้วยตนเองที่กรมการกงศุล หรือเลือกรับด้วย EMS ภายใน 5 วันทำการ (ค่าจัดส่ง 40 บาท) หรือเร็วกว่านั้นก็มี Speed Post ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน (ค่าจัดส่ง 60 บาท) โดยวันที่ส่งคือวันที่ทางกรมฯ ทำหนังสือเดินทางเสร็จแล้ว ในกรณีเลือกจัดส่งระบบจะให้กรอกที่อยู่ในการจัดส่งก่อนในขั้นตอนที่ 5 จากนั้นทุกขั้นตอนจะดำเนินการมาถึงขั้นตอนที่ 6 ในการกรอกข้อมูลบุคคลที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน 2 คน ซึ่งต้องกรอกอย่างน้อย 1 คน
หลังจากกรอกชื่อบุคคลที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว ก็ดำเนินมาถึงขั้นตอนที่ 7 นั่นคือการยืนยันข้อมูล ซึ่งระบบจะให้คุณตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งก่อนกด “บันทึกข้อมูลการจอง” ทั้งนี้คุณสามารถแก้ไขข้อมูลแต่ละส่วนก่อนบันทึกได้ และหลังจากบันทึกไปแล้วคุณก็ยังสามารถย้อนกลับมาแก้ไขข้อมูล เปลี่ยนวันที่และเวลาจองได้ใหม่ถึง 5 ครั้ง แต่ต้องไม่เกินเวลา 23.00 น. ก่อนวันจอง ดังนั้นหากจองไปแล้วเกิดติดธุระสำคัญชนกันพอดีก็สามารถกลับมาเปลี่ยนวันเวลาได้
เมื่อกด “บันทึกข้อมูลการจอง” แล้วระบบจะแสดง QR Code คิวจองขึ้นมาเป็นขั้นตอนสุดท้ายโดยคุณสามารถบันทึก แคปภาพ หรือพิมพ์เป็นกระดาษเก็บไว้เพื่อแสดงกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานหนังสือเดินทางได้ในวันเวลานัด แค่นี้เอง จบแล้ว!
4. เตรียมเอกสารและเงินให้พร้อม
การทำหนังสือเดินทางนั้นเป็นอีกหนึ่งหนังสือราชการที่ไม่ยุ่งยากเรื่องเอกสารเลยสักนิด เพราะเอกสารทำพาสปอร์ตมีเพียงอย่างเดียวคือ บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง ที่คุณต้องพกไป (ไม่ต้องถ่ายเอกสาร) ในกรณีของผู้ที่ทำหนังสือเดินทางเป็นครั้งแรก ส่วนกรณีที่ต้องการต่อพาสปอร์ตแล้วหนังสือเดินทางเล่มเก่ายังไม่หมดอายุ คุณจำเป็นต้องนำ หนังสือเดินทางเล่มเก่า ไปด้วย
ส่วนในกรณีที่ผู้ไปทำพาสปอร์ตยังอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์จะแบ่งเป็น 2 กรณีได้แก่ ทารกแรกเกิด – อายุ 14 ปี ให้ใช้สูติบัตรฉบับจริง (หากมีบัตรประชาชนแล้วต้องแสดงบัตรประชาชนฉบับจริงด้วย) ส่วนผู้ที่มีอายุ 15 – 20 ปี ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยทั้ง 2 กรณี ต้องมี บิดาและมารดาลงนามทั้ง 2 คนพร้อมแสดงบัตรประชาชนฉบับจริงด้วยทั้งคู่
สุดท้ายอย่าลืมพกเงินค่าธรรมเนียมทำหนังสือเดินทาง 1,000 บาทไปด้วย (ไม่รวมค่าจัดส่งกรณีเลือกจัดส่งทางไปรษณีย์) ซึ่งต้องใช้ชำระเงินหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนยื่นคำร้องและบันทึกข้อมูลชีวภาพต่างๆ แล้ว
5. พก QR Code ไปก่อนเวลานัด
หลังจากมี QR Code ในมือ คุณก็ทำกิจวัตรประวันของคุณได้ตามปกติเลยจนกว่าจะถึงวันนัด แต่งตัวให้ดูดี จัดทรงผมให้เรียบร้อย แล้ว อย่าลืมไปถึงสำนักงานสาขาที่เลือกไว้ก่อนเวลาจองอย่างน้อย 30 นาที เมื่อถึงสำนักงานแล้วก็ส่ง QR Code ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วรอเวลาอีกเล็กน้อยเพื่อดำเนินการต่อตามขั้นตอนต่อได้เลยเป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่ในกรณีที่คุณ “ลืม” นำ QR Code มาก็สามารถแจ้งเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่แทนได้ (แต่ทางที่ดีไม่ควรลืมนะจ๊ะ)
ทำพาสปอร์ตได้ที่ไหนบ้าง?
สำหรับการทำหนังสือเดินทางด้วยการจองคิวออนไลน์นั้น ปัจจุบันจะรองรับเฉพาะสำนักงานหนังสือเดินทางบางแห่งเท่านั้นได้แก่
สาขาที่จองคิวออนไลน์ได้
- กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ
- สำนักงานสาขาศรีนครินทร์ (ธัญญาพาร์ค)
- สำนักงานสาขาคลองเตย (MRT คลองเตย)
- สำนักงานสาขาปิ่นเกล้า
- สำนักงานสาขาพัทยา
ส่วนสถานที่ทำพาสปอร์ตในต่างจังหวัดและพื้นที่ที่ยังมีคิวไม่มากนักจะยังไม่มีบริการจองคิวออนไลน์ แต่ยังมีรายละเอียดการติดต่อแสดงในเมนู “แผนที่สาขาให้บริการ” ทุกสาขา และสามารถตรวจสอบจำนวนคิวการให้บริการได้ โดยสำนักงานอื่นๆ ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมีดังนี้
กรุงเทพฯ และปริมณฑล
- สำนักงานสาขามีนบุรี (บิ๊กซี สุวินทวงศ์)
- สำนักงานสาขาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ (เฉพาะหนังสือเดินทางราชการ)
- สำนักงานศูนย์แรงงาน (เฉพาะผู้ที่มีใบส่งตัวจากกรมการจัดหางานเท่านั้น)
ภาคเหนือ
- สำนักงานสาขาเชียงราย
- สำนักงานสาขาเชียงใหม่
ภาคกลาง
- สำนักงานสาขาพิษณุโลก
- สำนักงานสาขานครสวรรค์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- สำนักงานสาขาขอนแก่น
- สำนักงานสาขานครราชสีมา
- สำนักงานอุดรธานี
- สำนักงานอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก
- สำนักงานสาขาจันทบุรี
ภาคใต้
- สำนักงานสาขาภูเก็ต
- สำนักงานสาขายะลา
- สำนักงานสงขลา
- สำนักงานสุราษฎร์ธานี
เพียงเท่านี้การเดินทางไปทำหนังสือเดินทางของคุณก็เป็นเรื่องง่าย อีซี่กว่าเดิม! กับระบบราชการในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ทันสมัยและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด สำหรับหนังสือเดินทางของใครที่ใกล้หมดอายุแล้วก็อย่าลืมมาลองใช้วิธีจองคิวทำพาสปอร์ตออนไลน์ดูนะ แล้วคุณจะเหลือเวลาไว้ทำอย่างอื่นอีกเพียบเลย! โดยเฉพาะเวลาวางแผนจองตั๋วเที่ยวเมืองนอกทุกที่ที่คุณต้องการ
ข้อมูลจาก : skyscanner