คะฉิ่น เรียกตนเองว่า “จิงปอ” หรือ “จิ่งเผาะ” อพยพจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เฉพาะกลุ่มคะฉิ่น ในปี พ.ศ. 2513 เข้ามาทางดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไปอยู่ที่ดอยวาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย แล้วอพยพมาอยู่ที่ บ้านใหม่หมอกจ๋าม อ.แม่อาย บ้านใหม่พัฒนา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ คะฉิ่นมีความใกล้ชิดกับ ไทใหญ่ ลีซอ มูเซอ และ อีก้อ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาทิเบต-พม่า เช่นเดียวกัน
คะฉิ่น หรือ “ จิ่งเผาะ ” แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มได้แก่ จิมเผาะ, แหม่ลู่, ระวาง, แหล่ชี, อ่าจยี, หลี่ซู, หง่อชาง ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกัน
ลักษณะบ้านเรือน
คะฉิ่นนิยมสร้างบ้านแบบยกพื้นสูงขึ้น มีห้องนอนหลายห้อง หลังคามุงด้วยหญ้าคา ฝาบ้านทำด้วย ไม้ไผ่ มีสองประตูคือประตูหน้าบ้านและประตูหลังบ้าน จะมีหิ้งบูชาอยู่ที่ข้างหน้าห้องทางเข้าลักษณะขนาดกลางประมาณสิบคนต่อหนึ่งครอบครัว มีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว จะมีอำนาจในการตัดสินใจ มากกว่าผู้หญิง งานนอกบ้านเป็นหน้าที่ของผู้ชาย งานภายในบ้านเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง
การแต่งกาย
ชายหญิงแต่งกายเหมือนกันทุกวัย หมวกผู้ชายประดับด้วยฟันหมูป่าเพื่อป้องกันศัตรู ให้เกรงกลัว ชุดของหญิงคะฉิ่นแขนยาวสีดำมีเม็ดเงินประดับตามอก ผ้าซิ่นสีแดง ปักลวดลาย มีผ้าคาดเอว มีผ้าพันน่อง ชนเผ่าคะฉิ่นมีความเชื่อเกี่ยวกับเม็ดเงินที่ประดับไว้ในเสื้อของผู้หญิงว่า เปรียบเสมือนพื้นดิน ผู้ชายจึงให้เกียรติผู้หญิงสูงเพราะเชื่อว่าหากไม่ให้เกียรติผู้หญิงจะทำการใดไม่ขึ้น ปลูกพืชผักก็จะไม่งอกงาม
วัฒนธรรมประเพณี
คะฉิ่นนับถือผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่ ต่อมาหลังจากเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา ชาวคะฉิ่นที่บ้านหนองเขียวได้เปลี่ยนมาประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์แทนศาลเจ้าที่ เช่น พิธีกินข้าวใหม่ จะนำพันธุ์พืชที่จะปลูกเข้าร่วมในพิธี และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วก็จะนำผลผลิตอย่างละเล็กละน้อยของแต่ละครอบครัวไป ทำพิธีขอพรและขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ช่วยปกป้องรักษาให้มีผลผลิต ที่อุดมสมบูรณ์
พิธีเกี่ยวกับการเพาะปลูก จะมีการขอพรจากบรรพบุรุษก่อนทำการเพาะปลูกพืช ให้ช่วยดูแลที่นา ที่ไร่ ไม่ให้สัตว์หรือแมลงมารบกวนในการทำไร่ ทำสวน มีการฆ่าหมู ฆ่าไก่ ข้าวงอกงามแล้วจะมีการทำพิธีอีกรอบหนึ่ง ก่อนข้าวสุกก็ทำพิธีกินข้าวใหม่ หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะมีการจัดพิธียิ่งใหญ่ รำมะหน่าวถวายให้กับบรรพบุรุษด้วย
พิธีกรรมในบ้านหรือหมู่บ้าน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย จะทำพิธีล้างด้วยสิ่งของที่เทพเจ้าต้องการ จะเป็นการล้างสิ่งชั่วร้ายด้วยเลือดสัตว์
การแต่งงาน
สาวคะฉิ่นจะไม่ไปข้างนอกบ้านกับชาย หากไม่มั่นใจว่าเป็นคนที่ต้องการแต่งงาน ฝ่ายผู้ชายไปสู่ขอฝ่ายหญิง งานแต่งงานจะจัดขึ้นในบ้านของฝ่ายชาย แต่ใช้นามสกุลต่างนามสกุล ลูกใช้นามสกุลของพ่อ ไม่แต่งงานกันกับคนที่มีนามสกุลเดียวกัน หากฝ่ายชายไม่มีค่าสินสอดที่ต้องไปอยู่ช่วยทำงานในบ้านของฝ่ายหญิง จำนวน 7 ปี
ศาสนาสถานที่สำคัญ
มะหน่าว เป็นสถานที่ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมด้านจิตใจรวมตัวของคนในหมู่บ้าน เป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับการเต้นรำ ในพิธีเฉลิมฉลองต่าง ๆ ชาวคะฉิ่น ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่ดำเนินงานของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่